ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่า รับ CPI พุ่งหนุนคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday September 17, 2016 07:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ย.) เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ได้กระตุ้นให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 102.43 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 102.12 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9811 ฟรังค์ จากระดับ 0.9714 ฟรังค์

ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1152 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.1243 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3016 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3237 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงสู่ระดับ 0.7482 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7513 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญนั้น ดีดตัวขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI จะขยับขึ้นเพียง 0.1% ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 0.3% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.

ดัชนี CPI ที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์นั้น ได้กระตุ้นให้กระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง โดย CME Group FedWatch ระบุว่า นักลงทุนได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

ทั้งนี้ นักลงทุนปรับเพิ่มความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.สู่ระดับ 15% จากเดิมที่ 12%

นอกเหนือจากการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้าแล้ว นักลงทุนยังจับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย.ด้วยเช่นกัน ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ของหนังสือพิมพ์นิกเกอิคาดการณ์ว่า BOJ จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก และคาดว่า BOJ จะเดินหน้าใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างต่อเนื่อง

กระแสคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า ยังมีโอกาสอีกมากที่ BOJ ที่จะใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวด้วยว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารของญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ