ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday July 15, 2017 09:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และยอดค้าปลีกประจำเดือนมิ.ย.

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1466 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1400 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.3089 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2939 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 0.7824 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7731 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.55 เยน จากระดับ 113.21 เยน อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9639 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9671 ฟรังก์สวิส และปรับตัวลดลงแตะ 1.2646 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2727 ดอลลาร์แคนาดา

สำหรับดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดดอลลาร์สหรัฐเทียบกับหกสกุลเงินหลัก ลดลง 0.61% แตะที่ 95.142 ในวันศุกร์

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนมิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนพ.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของราคาน้ำมัน และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งบ่งชี้ถึงอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำของสหรัฐ และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นในเดือนมี.ค. และมิ.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นเพียง 1.6% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 หลังจากพุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนพ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนมิ.ย. และหากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานแล้ว ดัชนี CPI พื้นฐานได้ขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมิ.ย. เช่นเดียวกับในเดือนพ.ค. และเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย.

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 4.735 แสนล้านดอลลาร์ หดตัวลง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากร่วงลง 0.1% ในเดือนพ.ค. ต่างจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น 0.1% โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากการที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในร้านอาหาร และด้านพลังงาน ขณะที่ยอดขายในห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ตร่วงลงเช่นกัน

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ลดลง 0.1% ในเดือนมิ.ย. หลังจากทรงตัวในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกรวมถือว่าเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ