*(เพิ่มเติม)เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด ขณะส่งสัญญาณลดงบดุลในเดือนก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2017 01:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมวันนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์หลังการประชุม เฟดได้ส่งสัญญาณที่จะเริ่มปรับลดงบดุลในเดือนก.ย. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

"ทางคณะกรรมการคาดหวังว่าจะเริ่มทำการปรับงบดุลเข้าสู่ภาวะปกติ'ในไม่ช้า' โดยขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวตามที่เฟดคาดการณ์ไว้" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ เฟดได้เปลี่ยนแปลงการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์จากเดิมที่ใช้คำว่า 'ในปีนี้' เป็น 'ในไม่ช้า' ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า เป็นการบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับลดงบดุลในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งต่อไป หลังจากเฟดเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้

การปรับลดงบดุลของเฟด จะส่งผลให้เฟดลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ที่เฟดได้เข้าซื้อในตลาดในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2007-2009 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในขณะนั้น

ในการประชุมเดือนมิ.ย. เฟดเปิดเผยแผนการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS เป็นมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ก่อนที่จะเพิ่มวงเงินการลดงบดุลเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์/ไตรมาส

คาดว่าเมื่อเฟดทำการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS ตามเป้าที่วางไว้ จะส่งผลให้งบดุลของเฟดลดลงสู่ระดับ 2.0-2.5 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เฟดได้ถือครองสินทรัพย์จำนวนมากในช่วงที่ดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นจำนวน 3 รอบเพื่อกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานในช่วงที่สหรัฐเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และภาวะถดถอย

ขณะเดียวกัน แถลงการณ์เฟดในวันนี้ระบุว่า การปรับตัวของเศรษฐกิจจะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

เฟดระบุว่าความเสี่ยงในระยะใกล้ยังคงมีความสมดุล โดยเศรษฐกิจมีการขยายตัวปานกลางในปีนี้ ส่วนตลาดแรงงานมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง และอัตราเงินเฟ้อในระยะใกล้ยังคงปรับตัวอยู่ต่ำกว่าระดับ 2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ