Spotlight: สหรัฐรับมือกับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ"ทรัมป์"ท่ามกลางข้อกังขา การประท้วง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 20, 2017 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เชื้อไฟแห่งการอาฆาตแบ่งพรรคแบ่งพวก ความเชื่อมั่นที่หดหาย การเดินขบวนประท้วงต่างๆนานาเกิดขึ้น ในขณะเดียวกับที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นสู่ทำเนียบขาวจำนวนมากนั้น ก็เตรียมตัวฉลองในวันที่ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งกันอย่างคึกคักทั้งที่วอชิงตัน ดี.ซี. และเมืองอื่นๆ

ความเชื่อมั่นที่ตกต่ำ

ผลการสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งในวันศุกร์นี้ได้รับคะแนนนิยมสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2552 ซึ่งเป็นปีแรกที่โอบามารั้งตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ทำเนียบขาว กลับมีคะแนนนิยมต่ำสุดในรอบ 40 ปี ในฐานะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง

โพลล์ของซีเอ็นเอ็น/โออาร์ซี ที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมาชี้ว่า ประชาชนประมาณ 65% มองว่า การทำหน้าที่ของโอบามานั้นเป็นความสำเร็จ ในขณะที่ 49% มองว่า สาเหตุที่โอบามาประสบความสำเร็จเพราะจุดแข็งส่วนตัวมากกว่าสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุม คะแนนนิยมของโอบามาอยู่ที่ 60% ในวันสุดท้ายของการทำหน้าที่ประธานาธิบดีที่ยาวนานถึง 8 ปี

ในขณะที่โพลล์ของเอบีซี นิวส์/วอชิงตัน โพสต์ชี้ว่า ทรัมป์กำลังจะเดินเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีที่ไม่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมทั้งการจัดอันดับการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ถูกมองว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอดีตประธานาธิบดีคนก่อนๆ

ผลการสำรวจชี้ว่า 61% ของชาวอเมริกันที่ตอบรับการสำรวจขาดความมั่นใจในตัวทรัมป์ทั้งในเรื่องการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับอนาคตของประเทศ มีเพียง 40% เท่านั้นที่มองว่าทรัมป์จะทำได้ดีหรือเห็นด้วยกับแนวทางที่ทรัมป์ใช้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ

อย่างไรก็ดี โพลล์เหล่านี้ชี้ว่า ชาวอเมริกัน 6 ใน 10 มีการคาดหวังสูงกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในบางประเด็น โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการต่อกรกับการก่อการร้าย มีเพียงครึ่งหนึ่งที่คาดว่า ทรัมป์จะสามารถทำได้ดีใน 3 ประเด็นนี้ กล่าวคือ การช่วยเหลือชนชั้นกลาง การจัดการกับการขาดดุล และการแต่งตั้งศาลสูงสุด

ทรัมป์เองตอบโต้โพลล์ด้านลบเหล่านี้ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า คนกลุ่มเดียวกันที่เคยทำโพลล์หลอกลวงเพื่อช่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมหันต์นั้น ได้ทำโพลล์ขึ้นมาอีกครั้ง และพวกเขาก็โกงกันอีก

จัสติน แมคคาร์ที นักวิเคราะห์ของแกลลัพ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า แม้ว่า ทรัมป์จะเดินหน้าในเส้นทางแห่งประธานาธิบดีด้วยการครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่การที่ทรัมป์ไม่ได้รับความนิยมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากคุณสมบัติดังกล่าวกับความสามารถในการบริหารงานก็ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไป

การประท้วงที่ลุกลาม

สัปดาห์นี้ ชาวอเมริกันหลายแสนคนกำลังมุ่งหน้ามายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลายคนเตรียมฉลองกับการสาบานตนของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐ แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากเช่นกันที่มาด้วยวัตถุประสงค์ตรงกันข้าม

กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิคาดว่า จะมีประชาชน 8-9 แสนคนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าพิธีสาบานตนของโอบามาเมื่อปี 2552 ที่มีประชาชนเข้าร่วมงานถึง 1.8 ล้านรายจนทำให้การจราจรในดี.ซี.ติดขัด

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประท้วงจากกลุ่ม DisruptJ20 และกลุ่มอื่นๆต่างวางแผนที่จะขัดขวางพิธีการดังกล่าวในวันนี้ กลุ่ม The Act Now to Stop War and End Racism Coaltion เองก็วางแผนที่จะเดินขบวนประท้วงในช่วงเช้าวันศุกร์ย่านดาวน์ทาวน์ของวอชิงตันก่อนหน้าที่พิธีสาบานตนจะเริ่มเปิดฉากขึ้น

ยูเอสเอ ทูเดย์ รายงานว่า การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันพิธีด้วยเช่นกัน หน่วยงานด้านการออกใบอนุญาตให้เดินขบวนในวอชิงตัน ดี.ซี.เองก็ได้ออกใบอนุญาตให้มีการเดินขบวนแล้วอย่างน้อย 25 ครั้งในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ไมค์ ลิตเทอร์ส โฆษกของหน่วยงาน กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงมาก

ในบรรดาผู้ชุมนุมประท้วงช่วงสุดสัปดาห์นั้น คาดว่า อย่างน้อย 2 แสนรายจะมารวมตัวกันในนามของ Women' s March ที่วอชิงตัน คณะผู้จัดงานเล่าว่า การเดินขบวนครั้งนี้ไม่ใช่ประท้วงต่อต้านทรัมป์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการที่จะสนับสนุนในประเด็นต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในการทำแท้ง สุขภาพ การให้เงินเดือนที่เท่าเทียมกัน และความรุนแรงของอาวุธปืน

จิม เบนเดท นักประวัติศาสตร์ด้านพิธีสาบานตน กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากเกี่ยวกับตัวเลขดังกล่าวซึ่งถือว่าสูงกว่าตัวเลขจำนวนการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงพิธีสาบานตนก่อนหน้านี้

ขณะที่สื่อสหรัฐรายงานว่า ประชาชนประมาณ 1 ล้านคนก็วางแผนที่จะเดินขบวนประท้วงการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของทรัมป์ในรัฐทั้งหมด 50 รัฐ และประเทศต่างๆถึง 32 ประเทศ

ความบาดหมางแห่งการแบ่งพรรคแบ่งพวก

ในขณะที่สหรัฐเตรียมพร้อมกับพิธีสาบานตนของทรัมป์ ความบาดหมางจากการแบ่งขั้วก็ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน

ก่อนที่จะถึงพิธีสาบานตนของทรัมป์นั้น ส.ส.จากพรรคเดโมแครตเกือบ 60 คนได้ประกาศบอยคอต โดยระบุถึงเรื่องการแสดงความเห็นเกี่ยวกับชาวเม็กซิกันและผู้หญิงในช่วงการหาเสียงของทรัมป์ การใช้ทวิตเตอร์โจมตีนายจอห์น ลิวอิส ส.ส.จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นคนสำคัญด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเรือนที่ตราหน้าทรัมป์ว่าเป็นประธานาธิบดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เจอร์รี แนดเลอร์ ส.ส. กล่าวว่า ผมไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ เพราะการแสดงความเห็นที่ก่อให้เกิดความร้าวฉาน การหาเสียงที่เหยียดสีผิว ผลประโยชน์ทับซ้อน การปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษี

ขณะเดียวกัน สัปดาห์นี้ ความบาดหมางก็ครอบคลุมวอชิงตัน ดี.ซี.ด้วยรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของทรัมป์ แคนดิเดทที่ไฮโปรไฟล์ 9 รายที่ทรัมป์ตัดสินใจเลือกมานั้น ล้วนเป็นชื่อที่สร้างความกังขาในกลุ่มคณะกรรมการจากวุฒิสภา

ทอม ไพรซ์ ซึ่งทรัมป์เลือกให้มาทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขนั้น ถูกสมาชิกวุฒิสภาตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของเขาที่มีต่อการยกเลิกโอบามาแคร์ และการซื้อขายหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ของไพรซ์ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่นายชุค ชูเมอร์ แกนนำในวุฒิสภา กล่าวว่า ไพรซ์อาจจะทำผิดกฎหมาย ในขณะที่แกนนำของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเชื่อว่า ไพรซ์มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และอยากให้ไพรซ์ได้รับการรับรองโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วอลเตอร์ ชาบ ประธานสำนักงานฝ่ายจริยธรรมของรัฐบาลก็ได้ออกโรงเตือนว่า ว่าที่รัฐมนตรีหลายคนของทรัมป์นั้นอาจจะมีประเด็นเรื่องจริยธรรม ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การทำหน้าที่ระยะเวลา 40 ปีของชาบในตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีรัฐมนตรีกี่รายจะได้รับการรับรองในวันที่ทรัมป์เข้าพิธีสาบานตน โดยเมื่อปี 2552 แคนดิเดทของครม.ชุดโอบามานั้นได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาในวันพิธีสาบานตน

ฌอน สไปเซอร์ ว่าที่โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ทรัมป์อาจจะเดินเรื่องด้านการบริหารภายหลังจากที่ได้รับตำแหน่งในทันที ซึ่งสวนทางกับที่ทรัมป์เคยประกาศไว้ว่า วันแรกของการทำงานของตนเองคือวันจันทร์ ไม่ใช่ในวันเข้าพิธีสาบานตน

ในระหว่างการหาเสียงนั้น ทรัมป์เคยให้สัญญาไว้ว่า จะเริ่มยุติงานต่างๆที่เคยเป็นภารกิจของโอบามา ในวันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว ซึ่งรวมถึงลบล้างกฎระเบียบต่างๆนานาของโอบามาที่มีอยู่เดิม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ