ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัววันนี้ ปรับตัวขึ้นเดือนที่ 2 หลังจีดีพีสหรัฐซบ,ดอลล์อ่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2016 21:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาทองฟิวเจอร์ดีดตัวขึ้นในวันนี้ และปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้ปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ ราคาทองยังได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า ขณะที่นักลงทุนพิจารณาผลกระทบจากการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้

ณ เวลา 21.38 น.ตามเวลาไทย สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเลกทรอนิกส์ ดีดตัวขึ้น 11.80 ดอลลาร์ หรือ 0.88% สู่ระดับ 1,353.00 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์ดิ่งลงเทียบยูโรและเยนในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ณ เวลา 19.58 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ทรุดตัวลง 2.25% สู่ระดับ 102.87 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 1.57% สู่ระดับ 114.71 เยน และดีดตัวขึ้น 0.67% สู่ระดับ 1.1148 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.64% สู่ระดับ 96.038

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เบื้องต้นประจำไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.2% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.6%

การขยายตัวที่ซบเซาดังกล่าวได้รับผลกระทบจากสต็อกสินค้าคงคลังที่ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 แต่การพุ่งขึ้นของการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรก สู่ระดับ 0.8% หลังจากรายงานก่อนหน้านี้ว่ามีการขยายตัว 1.1%

ทั้งนี้ สต็อกสินค้าคงคลังในภาคธุรกิจมีมูลค่าลดลง 8.1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2011 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.07 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก

การใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2014

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาคธุรกิจหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2007-2009

BOJ ได้ขยายวงเงินในการซื้อกองทุน ETFs จากสถาบันการเงินต่างๆเป็น 6 ล้านล้านเยน (5.8 หมื่นล้านดอลลาร์) และเพิ่มวงเงินในโครงการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ โดยได้ปรับเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนคาดหวังว่า BOJ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ