ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้น แต่ช่วงบวกถูกจำกัดจากคาดการณ์สหรัฐเพิ่มการผลิต,การส่งออกน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 5, 2018 22:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นในวันนี้ จากรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ที่คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงขยายตัวต่อไปอีก 5 ปี แต่ช่วงบวกของราคาถูกจำกัดจากการที่ IEA ระบุว่าสหรัฐจะปรับเพิ่มกำลังการผลิต และการส่งออกน้ำมัน

ณ เวลา 22.37 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 49 เซนต์ หรือ 0.80% สู่ระดับ 61.74 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ IEA คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงขยายตัวต่อไปอีก 5 ปี และสหรัฐจะสามารถผลิตน้ำมันรองรับอุปสงค์น้ำมันส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันประจำปี 2561 IEA คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั่วโลกจะยังคงสนับสนุนการใช้น้ำมันอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2566 ซึ่งนอกจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐแล้ว การผลิตน้ำมันจากแคนาดา บราซิล และนอร์เวย์ ก็จะช่วยรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2563

IEA ระบุว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันลดลง 25% ในปี 2558 และ 2559 ขณะที่ทรงตัวในปีที่แล้ว โดยการลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับการทรุดตัวของราคาน้ำมันต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์ในปี 2559 แต่ราคาได้ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่ที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ร่วมมือกับรัสเซียและประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ ในการปรับลดกำลังการผลิตเมื่อปีที่แล้ว

IEA คาดการณ์ว่า สหรัฐจะผลิตน้ำมันดิบ คอนเดนเสท และก๊าซธรรมชาติเหลว จำนวน 17 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสหรัฐจะเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 13.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2560 ขณะที่โอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 750,000 บาร์เรล/วันจนถึงปี 2566

IEA คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านบาร์เรล/วันจนแตะ 107 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสหรัฐจะผลิตน้ำมันคิดเป็น 60% ของการเพิ่มขึ้นทั่วโลก และความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 6.9 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 104.7 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงเวลาดังกล่าว โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอุปสงค์น้ำมันจากจีนและอินเดีย

IEA มองว่าความต้องการใช้น้ำมันจะยังไม่แตะจุดสูงสุดในเร็วๆนี้ แต่จะเริ่มชะลอตัวเหลือเพียงราว 1 ล้านบาร์เรล/วันภายในปี 2566

นอกจากนี้ คาดว่าสหรัฐจะส่งออกน้ำมันมากขึ้น หลังจากที่ได้ส่งออกน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะส่งออกมากถึง 5 ล้านบาร์เรล/วันภายในปี 2566 หลังจากมีการสร้างท่อส่ง และสถานีส่งออกน้ำมันแห่งใหม่

IEA คาดการณ์ว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สหรัฐจะหลุดจากรายชื่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยจีนและอินเดียจะครองตำแหน่งดังกล่าว ขณะที่การนำเข้าน้ำมันในเอเชียจะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงปี 2566 โดยตะวันออกกลางจะยังคงเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย แต่จากการที่จีนได้เพิ่มการกลั่นน้ำมัน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้นเช่นกัน

เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 แท่น สู่ระดับ 800 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2558

แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 โดยเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 สัปดาห์นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันยังมีจำนวนมากกว่าระดับ 609 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นายฟาตีห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของ IEA ระบุว่า สหรัฐมีแนวโน้มที่จะแซงหน้ารัสเซียขึ้นเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในปีหน้า เนื่องจากการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นสวนทางกับตลาดโลก

ในปีที่แล้ว การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรล/วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยแซงหน้าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย

ทางด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยในช่วงต้นเดือนนี้ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ