Spotlight: นักวิเคราะห์ชี้ "ทรัมป์" รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอลอาจสั่นคลอนสันติภาพตะวันออกกลาง

ข่าวการเมือง Thursday December 7, 2017 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้มีเสียงคัดค้านและการประท้วงทั่วโลก แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล อย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ พร้อมกับเปิดเผยแผนการย้ายสถานทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม

บรรดานักวิเคราะห์ต่างถกเถียงกันถึงการตัดสินใจดังกล่าวของทรัมป์ว่า อาจส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยิ่งเลวร้าย จากเดิมที่ภูมิภาคแห่งนี้ก็มีความอ่อนไหวสูงอยู่แล้ว และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การทำให้โอกาสที่จะเกิดสันติภาพในตะวันออกกลาง เป็นไปได้ยากยิ่งกว่าในช่วงที่ผ่านมา

"การยอมรับความจริง"

ปธน.ทรัมป์แถลงต่อชาวอเมริกันที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ว่า "ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะรับรองอย่างเป็นทางการให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว ประธานาธิบดีหลายคนก่อนหน้านี้ได้ให้สัญญาในเรื่องนี้ในการรณรงค์หาเสียง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งในวันนี้ ผมกำลังทำตามคำสัญญาของผม"

ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของเขาไม่ได้มีความประสงค์ที่จะขัดขวางกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ โดยสหรัฐจะให้การสนับสนุนแนวทางในการตั้งรัฐปาเลสไตน์ และอิสราเอลควบคู่กัน หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องกัน

นอกจากนี้ ทรัมป์กล่าวว่า เขาจะสั่งการให้มีการเริ่มต้นกระบวนการในการออกแบบ และก่อสร้างสถานทูตสหรัฐในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลายปี และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะถือเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อสันติภาพในตะวันออกกลาง

เมื่อกล่าวถึงประเด็นการย้ายสถานทูตสหรัฐจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม ทรัมป์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการจ้างสถาปนิกและวิศวกรเพื่อสร้างสถานทูตใหม่ในทันที นอกจากนี้ เขายังประกาศว่านายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ จะเดินทางไปยังตะวันออกกลาง เพื่อ "ยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วตะวันออกกลาง เพื่อปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรง"

ทั้งนี้ การดำเนินการของปธน.ทรัมป์ ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายปี 2538 ของสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการย้ายสถานทูตสหรัฐไปยังกรุงเยรูซาเลม ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐหลายคนก่อนหน้านี้ เช่น บิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู บุช และบารัค โอบามา ต่างก็ใช้คำสั่งประธานาธิบดีเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป เนื่องจากวิตกว่าจะกระพือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ชาวปาเลสไตน์ถือว่ากรุงเยรูซาเลมซึ่งถูกอิสราเอลยึดครองมาตั้งแต่สงครามปี 2510 นั้น เป็นเมืองหลวงแห่งรัฐในอนาคต รวมถึงมองว่าสถานะของกรุงเยรูซาเลมนั้นยังคงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไข

แรงจูงใจทางการเมือง

แดเนียล เซอร์เวอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า แรงจูงใจหลักของทรัมป์ในการตัดสินใจดังกล่าวก็คือปรารถนาให้ฝ่ายบริหารสนับสนุนอิสราเอลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประการที่สอง ทรัมป์เข้ามามีส่วนร่วมในสัญญาหยุดการก่อการร้าย ซึ่งหมายความว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอลมากขึ้น เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศพันธมิตรที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวของสหรัฐในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้ปัญหาของอิสราเอลและปาเลสไตน์สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น

"อย่างไรก็ดี การประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆของสหรัฐโดยปราศจากความเสมอภาคนั้น จะทำให้สันติภาพที่ตกลงกันไว้เป็นไปได้ยากขึ้น" เซอร์เวอร์กล่าว

"สหรัฐมักหนุนอิสราเอลอยู่เสมอ ทว่าการตัดสินใจครั้งล่าสุดมิได้ถือเป็นการต่อต้านปาเลสไตน์เสียทีเดียว แต่ก็ทำให้หลายๆฝ่ายยากที่จะเชื่อว่า การบริหารงานของทรัมป์นั้นสนับสนุนการแก้ปัญหาของทั้ง 2 ฝ่ายอันเป็นผลลัพธ์เดียวที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพ" เขากล่าวเสริม

ขณะที่แดน มาฮาฟฟี รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย ศูนย์การศึกษาแห่งรัฐสภาและประธานาธิบดี เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวในทำนองเดียวกันว่า การตัดสินใจย้ายสถานทูตของทรัมป์นั้น สะท้อนให้เห็นว่า คณะทำงานของเขาต้องการผลักดันกระบวนการสันติภาพ เพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลง แม้จะสร้างไม่พอใจต่อชาติอาหรับ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางอีกก็ตาม"

กระแสตีกลับ

ดาร์เรลล์ เวสต์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันบรู๊กกิงส์ กล่าวว่า การตัดสินใจของทรัมป์จะทำให้ชาวปาเลสไตน์ผิดหวัง เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่ออิสราเอลแต่เพียงฝ่ายเดียว

"มีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหลังจากที่ทรัมป์ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ" เวสต์กล่าว

ด้านเซอร์เวอร์เองก็เห็นพ้องเช่นกันว่า การตัดสินใจของทรัมป์ในครั้งนี้มิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ทว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดต่างหาก"

"มันเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า" เขากล่าว "หากชาวปาเลสไตน์ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการตัดสินใจของทรัมป์ในครั้งนี้ ก็เป็นการยากที่พวกเขาจะกลับไปเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง"

ขณะที่ชิบลีย์ เทลฮามี ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากสถาบันบรู๊กกิงส์ กล่าวว่า "การตัดสินใจของทรัมป์เป็นการขัดแย้งต่อหลักการที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดไว้สำหรับตะวันออกกลาง นั่นคือการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และเผชิญหน้ากับอิทธิพลของอิหร่าน"

"ประเด็นเกี่ยวกับนครเยรูซาเลมจะกลายเป็นข้ออ้างชั้นดีให้อิหร่านและกลุ่ม IS ใช้เพื่อระดมกำลังสนับสนุนเพื่อต่อต้านสหรัฐ " เทลฮามี เพิ่มเติม

สันนิบาตอาหรับเตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินในวันเสาร์นี้ เพื่อหารือท่าทีของชาติอาหรับในการรับมือกับการที่ปธน.ทรัมป์ประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นการหารือเกี่ยวกับการดำเนินการของชาติอาหรับต่อการเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐซึ่งจะกระทบต่อสถานะของกรุงเยรุซาเลม

ทางด้านแคนาดา และเม็กซิโกได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลมตามสหรัฐ โดยนางคริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา ประกาศว่า แคนาดาจะไม่ย้ายสถานทูตไปยังกรุงเยรูซาเลม โดยแคนาดามีจุดยืนว่า สถานะของกรุงเยรูซาเลมนั้นจะกำหนดได้จากการเจรจาโดยสันติเท่านั้น เพื่อปูทางสู่กระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ด้านกระทรวงต่างประเทศของเม็กซิโก ก็ได้ประกาศยืนยันไม่ย้ายสถานทูตไปยังกรุงเยรูซาเลมเช่นเดียวกัน โดยทางรัฐบาลเม็กซิโกระบุว่า การตัดสินใจไม่ย้ายสถานทูตนั้นสอดคล้องกับมติของสหประชาชาติ (UN)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ