In Focusทั่วโลกลุกฮือต่อต้าน "ทรัมป์" หลังสั่งห้ามพลเมือง 7 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 1, 2017 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในยามนี้คงหนีไม่พ้นข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ถอดด้ามของสหรัฐได้สร้างปรากฎการณ์ช็อคโลกด้วยการจรดปากกาเซ็นคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกันเป็นเวลา 90 วัน และห้ามผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศเข้าสหรัฐเป็นเวลา 120 วัน โดยพลเมืองที่ติดร่างแหในคำสั่งสะท้านโลกฉบับนี้ คือ ชาวซีเรีย เยเมน ซูดาน โซมาเลีย อิรัก อิหร่าน และลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ทรัมป์ "ตีตรา" ว่าเป็นแหล่งชุมนุมของกลุ่มก่อการร้ายที่ส่งสาวกเข้าไปก่อเหตุคุกคามในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก

ทรัมป์เลือกวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2560 เป็นวันลงนามใน "คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี" หรือ Executive Order และเป็นวันเดียวกับที่ทรัมป์ได้เปิดทำเนียบขาวต้อนรับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าพบทรัมป์นับตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ...ในช่วงแรกนั้น ทรัมป์ทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ยอดเยี่ยมในการต้อนรับมหามิตรจากดินแดนผู้ดี ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างอังกฤษต่อไปแม้ในวันที่ต้องแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่นางเทเรซา เมย์ ก็ปลื้มปิติกับน้ำใสใจจริงของทรัมป์ และไม่ถือสากับความผิดพลาดของทำเนียบขาวที่สะกดชื่อของเธอผิดในหมายกำหนดการประชุมผู้นำ จาก "Theresa May" เป็น "Teresa May" ซึ่งเป็นชื่อของอดีตดาวโป๊คนดังของอังกฤษ

แต่เมื่อแขกบ้านแขกเมืองอย่างเทเรซา เมย์ คล้อยหลังออกจากทำเนียบขาวไปได้เพียงไม่นาน ทรัมป์ก็นั่งโต๊ะจับปากกาลงนามในคำสั่งสกัดพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมและผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที ...ทันทีที่คำสั่งของทรัมป์ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน กระแสต่อต้านรุนแรงก็สะท้อนกลับมาที่ทรัมป์อย่างไม่ต้องสงสัย โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกคือบรรดาพลเมืองจาก 7 ชาติมุสลิมที่เพิ่งเดินทางถึงสนามบินสหรัฐโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กลับต้องถูกกักตัวอยู่ที่สนามบินตามคำสั่งของประธานาธิบดี

  • เจาะลึก "คำสั่งพิเศษประธานาธิบดี" ...คำสั่งที่มีไว้ในยามจำเป็น

หลังจากที่ทรัมป์เข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน สิ่งที่ชาวเราได้ยินกันแบบรายวันคือคำว่า "คำสั่งพิเศษประธานาธิบดี" ... ทั้งนี้ คำสั่งพิเศษประธานาธิบดี หรือ Executive Order นั้น ปรากฎอยู่ในมาตรการ 2 แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจในการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึงหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส

ข้อมูลตามประวัติศาสตร์บอกเราว่า ในอดีตนั้น การลงนามในคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์ที่จำเป็น เช่นเมื่อเกิดภาวะสงคราม ยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ ลงนามในคำสั่งพิเศษให้สร้างศูนย์กักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นประมาณ 120,000 คนในปี 2485 และอดีตประธานาธิบดี แฮร์รี่ เอส ทรูแมน ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษให้รัฐมีอำนาจควบคุมอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผละงานในปี 2495 และในสมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามา ก็มีการลงนามในคำสั่งพิเศษเพื่อเดินหน้านโยบายที่ถูกขัดขวางโดยฝั่งรีพับลิกันในสภาคองเกรส

.. แต่ในยุคของทรัมป์ นับตั้งแต่ที่ก้าวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษแบบรายวัน ประหนึ่งว่าต้องการใช้คำสั่งดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการแสดงจุดยืนของรัฐบาล ไล่ตั้งแต่การลงนามคำสั่งสหรัฐให้ถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) , ระงับการให้เงินทุนของรัฐบาลกลางแก่กลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) ซึ่งให้การสนับสนุนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง รวมไปถึงการเดินหน้าการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน เอ็กซ์แอล และท่อส่งน้ำมันดาโกต้า แอคเซส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของอดีตประธานาธิบดีโอบามา

ศูนย์ข้อมูลรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐระบุว่า คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย จะต้องผ่านการทบทวนโดยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และถ้าคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีถูกพิจารณาว่าอยู่นอกเหนือขอบเขตที่ยอมรับได้ ก็อาจถูกทบทวนตามกระบวนการทางกฎหมายได้อีกครั้งแม้จะประกาศออกมาแล้วก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดีก็ยังมีอำนาจคัดค้าน หรือ วีโต้ (veto) ได้

  • ประชาคมโลกลุกฮือต่อต้าน หลัง "ทรัมป์" ปล่อยทุ่นระเบิดในนามคำสั่งประธานาธิบดี

คำสั่งสกัดผู้ลี้ภัยของทรัมป์ถูก 'ตีตรา' ว่าเป็นการต่อต้านผู้ที่นับถือศาสนามอิสลามโดยเฉพาะเจาะจง เพราะนอกจากการสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ชาติดังกล่าวเข้าประเทศแล้ว ยังสั่งให้มีการตรวจสอบประวัติของชาวมุสลิมในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังถูกตราหน้าว่าไร้ศีลธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่ไม่ให้กีดกันการนับถือศาสนา และที่สำคัญก็คือ คำสั่งช็อคโลกฉบับนี้ยัง 'ย้อนแย้ง' กับประวัติความเป็นมาของสหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่เกิดและสร้างขึ้นมาด้วยน้ำมือของผู้อพยพ และมีความภาคภูมิใจในความเป็นประเทศที่หล่อหลอมคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อที่แตกต่างกันเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน จนประเทศกลายเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นต้นแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการออกจากกันอย่างเด็ดขาด ... แต่มาวันนี้ สหรัฐกลับเป็นฝ่ายบดขยี้หลักการและรากฐานแห่งความเชื่อนี้ ผ่านน้ำมือของประธานาธิบดีคนใหม่ที่สร้างเซอร์ไพรซ์รายวันจนคนรอบข้างตามแทบไม่ทัน

ปรากฏการณ์ต่อต้านทรัมป์แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง เริ่มตั้งแต่ภาคประชาชนคนเดินดินที่รวมตัวกันทั้งที่สนามบินทั่วประเทศ ที่จตุรัสลาฟาแยตหน้าทำเนียบขาว และหน้าสถานทูตของประเทศต่างๆทั่วโลก ผู้ประท้วงต่างก็ชูป้ายแสดงความรู้สึกผ่านถ้อยคำบนแบนเนอร์ และแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อพยพ

ไม่เพียงแต่ภาคประชาชนเท่านั้น ผู้นำในหลายประเทศต่างก็ออกมาต่อต้านคำสั่งของทรัมป์อย่างไม่เกรงใจ นำหัวขบวนโดยนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ลุกขึ้นพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมที่จะตัดสินคนจากชาติกำเนิดหรือความเชื่อ ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสออกโรงในเวลาต่อมาว่า การต้อนรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไฟสงครามถือเป็นหนึ่งในภารกิจของฝรั่งเศส และผู้นำที่แสดงออกถึงความหล่อทั้งกายและจิตใจในห้วงเวลานี้คือ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า "สำหรับผู้ที่หลบหนีการถูกข่มเหง ภัยก่อการร้าย และสงครามแล้ว ชาวแคนาดาจะให้การต้อนรับพวกคุณโดยไม่คำนึงถึงความศรัทธา เพราะความหลากหลายคือจุดแข็งของเรา" ... และทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกระแสต่อต้านจากชาติมุสลิมที่ผู้นำประเทศต่างก็ตบเท้าออกมาประณามคำสั่งของทรัมป์กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลขาธิการองค์การสันนิบาตอาหรับที่ได้เรียกร้องให้ทรัมป์ทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังถูก "แบน" จากชาวอังกฤษนับล้านที่แห่กันลงชื่อคัดค้านการเดินทางเยือนอังกฤษและเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยคำร้องเรียนระบุว่า ทรัมป์สามารถเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรในฐานะผู้นำของรัฐบาลสหรัฐ แต่เขาไม่ควรได้รับคำเชิญให้เดินทางเยือนแบบรัฐพิธี เนื่องจากจะสร้างความลำบากพระทัยให้สมเด็จพระราชินี

  • ศึกนอกไม่ทันหาย ศึกในยังรุมเร้า

ไม่เพียงแต่มวลมหาประชาชนและผู้นำในต่างประเทศเท่านั้น ทรัมป์ยังเผชิญกับการต่อต้านจากคนในประเทศเอง เริ่มตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโอบามาที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนผู้ประท้วง โดยกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจประธานาธิบดีในการออกคำสั่งกีดกันผู้ที่มีความเชื่อต่างศาสนา และยังกล่าวด้วยว่า การที่พลเมืองใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการรวมตัวกันเพื่อให้เสียงของตนเองร้องเรียนไปถึงผู้นำประเทศนั้น ถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำในยามที่คุณค่าของพลเมืองตกอยู่ในความเสี่ยง

การปรากฎตัวของโอบามาได้สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตามธรรมเนียมของสหรัฐแล้ว ประธานาธิบดีที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้ว มักจะไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

นอกจากนี้ การต่อต้านยังแผ่ไปไกลถึงวงการยุติธรรม โดยอัยการสูงสุดของสหรัฐจาก 15 รัฐ และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย ออกมาตำหนิคำสั่งพิเศษของทรัมป์ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าว "ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และไม่ใช่วิถีของอเมริกันชน"

กระแสต่อต้านทรัมป์ยังได้ลุกลามไปยังภาคเอกชน โดยกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐได้หารือกันเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะใช้ในการคัดค้านคำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ชาติมุสลิมเข้ามาในสหรัฐ เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรมากความสามารถจากทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประเทศที่ถูกแบนในครั้งนี้ด้วย โดยบริษัทชั้นนำที่ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ รวมถึง GitHub, Google, Airbnb, Netflix, Adobe Systems Inc, Dropbox, Pinterest, SpaceX, Yelp Inc และ Zynga Inc

ทางด้าน สตาร์บัคส์ ได้ออกมาหักหน้าทรัมป์ ด้วยการประกาศรับพนักงงานที่เป็นผู้ลี้ภัยทั่วโลก จำนวน 10,000 ราย ในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ โดยต่างพากันติดแฮชแท็ก #BoycottStarbucks (บอยคอตสตาร์บัคส์) ผ่านทางทวิตเตอร์ นอกจากนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ยังออกมาเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ด้วยการเปิดแคมเปญ #DeleteUber (ลบบัญชีอูเบอร์) เพื่อแสดงความไม่พอใจที่อูเบอร์ประกาศพักการขึ้นค่าโดยสารอัตโนมัติ (Surge Pricing) สำหรับผู้ขับอูเบอร์ที่ให้บริการรับส่งผู้ชุมนุมประท้วงที่สนามบินจอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK) โดยอูเบอร์มีเป้าหมายที่จะแสดงออกถึงการคัดค้านคำสั่งแบนพลเมืองผู้ลี้ภัยของทรัมป์

  • ปลดฟ้าฝ่ารมว.ยุติธรรม โทษฐานแข็งข้อคำสั่งประธานาธิบดี

แม้กระแสต่อต้านลุกลามเป็นวงกว้าง แต่หาได้ระคายผิวของทรัมป์ไม่ ล่าสุดเขาสั่งปลดนางซัลลี เยตส์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หลังจากเยตส์ปฏิเสธบังคับใช้คำสั่งแบนพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิม โดยให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ถูกกฎหมายและไม่เห็นด้วยที่จะปกป้องคำสั่งนั้น กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนเข้าเมืองและสิทธิพลเรือน ตลอดจนสมาชิกเดโมแครต ได้ออกมาประณามการปลดเยตส์ โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการปิดปากผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาคัดค้านมาตรการต่อต้านมุสลิม ที่ทั้งผิดกฎหมายและยังเป็นการส่งเสริมผู้ก่อการร้ายทั่วโลกทางอ้อม

ลอว์เรนซ์ ทริบ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การปลดเยตส์ถือเป็นการท้าทายอเมริกันชนและละเมิดส่วนสำคัญของรัฐธรรมนูญ และมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ "สังหารหมู่คืนวันเสาร์" ในปี 2516 เมื่ออดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้สั่งปลดนายอาร์คีบัลด์ ค็อกซ์ อัยการพิเศษในคดีวอเตอร์เกต ทำให้เอลเลียต ริชาร์ดสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม

ขณะที่นายแพทริก เลฮี กรรมาธิการด้านกฎหมายแห่งวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า การที่ทรัมป์ปลดเยตส์แบบฟ้าฝ่าเช่นนี้ ราวกับประกาศให้คณะรัฐมนตรีรับรู้ว่า ใครก็ตามที่ประกาศเจตนารมณ์จะปกป้องรัฐธรรมนูญ คนผู้นั้นเสี่ยงที่จะหลุดจากเก้าอี้

การตัดสินใจของทรัมป์ในครั้งนี้ ไม่ต่างจากน้ำผึ้งหยดเดียวที่นอกจากจะสร้างศัตรูในต่างแดนแล้ว ยังอาจทำให้คนในชาติลุกขึ้นต่อสู้กันเอง กล่าวคือต่างฝ่ายต่างออกมาตอบโต้ตามความเชื่อและความศรัทธาของตัวเองโดยไม่มีทีท่าว่า จะพยายามหาจุดร่วมที่ดีสุดสำหรับการแก้ไขปัญหาประเทศ... และจุดที่น่าสนใจก็คือ ทรัมป์ได้เลือกตั้งจากเสียงส่วนน้อยของประชาชน คือประมาณร้อยละ 47 ถึงแม้จะได้รับเลือกตั้งจากเสียงของคณะผู้เลือกตั้งตัวแทนของรัฐต่างๆตามระบบการเลือกตั้งของสหรัฐ นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จำใจต้องมีประธานาธิบดีที่ตนเองไม่อยากได้ และชาวเราที่อยู่ในฐานะพลเมืองร่วมโลก ก็จำต้องจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ