In FocusASEAN Summit ครั้งที่ 31 กับผลประโยชน์ของมหาอำนาจบนเวทีการประชุมของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 15, 2017 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวด้านการเมืองระหว่างประเทศสำคัญ ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเยือน 3 ชาติในเอเชียตะวันออกของ “โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (APEC ) เมื่อวันที่ 8 – 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ล่าสุดก็เป็นคิวของการประชุมครั้งใหญ่อีกงานหนึ่ง ซึ่งก็คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 (31st ASEAN Summit) ในวันที่ 13-14 พ.ย. ที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ

การประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 31 นี้ เป็นการประชุมผู้นำครั้งที่ 2 ในรอบปี และไม่ได้เป็นเพียงการประชุมที่จำกัดเฉพาะประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่ยังมีผู้นำจากบรรดาประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ตบเท้าเข้ามาร่วมประชุมด้วย ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ รัสเซีย และองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีแคนาดา และสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของฟิลิปปินส์ผู้เป็นเจ้าภาพ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทำไมบรรดาประเทศผู้มีอำนาจในเวทีการเมืองโลกจึงมาร่วมประชุมในเวทีระดับภูมิภาคของของบรรดาประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้? ซึ่งมหาอำนาจในที่นี้ หมายถึง การเป็นประเทศที่มีอำนาจในการต่อรองสูง ซึ่งครอบคลุมถึงอำนาจการต่อรองด้านความมั่นคง หรือเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

In Focus วันนี้จึงขอหยิบยกความเคลื่อนไหวของ 4 ประเทศมหาอำนาจที่เข้าร่วมการประชุมว่า มหาอำนาจเหล่านี้ได้อะไรบ้างจากการประชุม ASEAN Summit ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สี่ประเทศดังกล่าวประกอบด้วย สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

*สหรัฐ

เมื่อพูดถึงคำว่า มหาอำนาจ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกภูมิภาคไม่เว้นแม้แต่อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มาพร้อมกับนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย" หรือ “Pivot to Asia" ที่ทำให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งนักวิชาการและสื่อหลายสำนักได้วิเคราะห์ไว้ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเพื่อที่จะรักษาการเป็น “มหาอำนาจเบอร์หนึ่ง เบอร์เดียวของโลก" ซึ่งหลังจากที่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐต่อจากโอบามา หลายฝ่ายเคยวิเคราะห์ไว้ว่า นายทรัมป์จะต้องล้มเลิกความสนใจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงอาเซียนเป็นแน่ เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มุ่งเน้นนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน" (America First Policy) ซึ่งเน้นไปที่การรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของสหรัฐเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี แต่ทว่า ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะล่าสุด ทรัมป์ได้เดินทางเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการภายใต้ทริปที่ยาวนานเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมประชุม ASEAN Summit ของสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียก็มิได้ห่างหายไปจากสายตาของสหรัฐ หรือถ้าหากมองอีกแง่ อาจมองได้ว่า การเข้าร่วมประชุม ASEAN Summit ของทรัมป์ไม่ได้ขัดแย้งกับนโยบาย America First มากนัก เพราะการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ทรัมป์เชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำคัญของสหรัฐในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งในสายตาของสหรัฐแล้ว ภูมิภาคอาเซียนมีความสำคัญต่อสหรัฐในแง่หลักๆ 2 ประการ กล่าวคือ ด้านความมั่นคงในภูมิภาค และเศรษฐกิจ

ด้านความมั่นคง -- ด้วยจุดยืนและท่าทีที่แน่วแน่ของเกาหลีเหนือในการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ซึ่งสหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคอีกทั้งยังเป็นภัยต่อสหรัฐด้วยนั้น สหรัฐจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันเกาหลีเหนือให้ยุติโครงการดังกล่าว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้เอง อาเซียนจึงมีความสำคัญต่อสหรัฐ โดยสหรัฐต้องการขอแรงสนับสนุนจากประเทศกลุ่มอาเซียนในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นการกดดันเกาหลีเหนืออีกทางหนึ่ง และสหรัฐก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากอาเซียน

ด้านเศรษฐกิจ -- สหรัฐเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และอาเซียนก็เป็นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐ การรักษาความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนไว้จึงมีความสำคัญจึงมีความสำคัญกับรัฐบาลของทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอยู่พอสมควร ซึ่งถ้าหากติดตามสถานการณ์ในสหรัฐ เราจะพบว่า โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพยายามอย่างหนักที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองสหรัฐให้ดีขึ้น เพราะสิ่งนี้ ถือเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นนโยบายที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างอาเซียนสหรัฐ จะนำไปสู่การเข้าไปลงทุนในอาเซียนซึ่งกำลังเติบโต และมีโอกาสการลงทุนมากมาย อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของสหรัฐด้วย

*จีน

จีนเป็นประเทศที่แผ่อิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่จับตาของทั่วโลกเสมอมาโดยเฉพาะสหรัฐ เพราะการขยายอิทธิพลของจีน ไม่ใช่เพียงการขยายอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การค้า การลงทุนเท่านั้น แต่จีนพยายามขยายอิทธิพลในด้านความมั่นคงด้วย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ความพยายามในการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหาร การขยายอิทธิพลและการอ้างสิทธิพื้นที่ทางทะเล ภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของจีนเช่นกัน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการประชุม ASEAN Summit ครั้งนี้

ด้านความมั่นคง -- เมื่อพูดถึงความมั่นคงของจีนและภูมิภาคอาเซียน ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้น ปัญหาทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและอาเซียน และระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองมาโดยตลอด แม้ในร่างแถลงการณ์ก่อนเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 จะไม่มีการพูดถึงประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็ตาม แต่ก็มีความเคลื่อนไหวในประเด็นทะเลจีนใต้เกิดขึ้น และเนื่องจากจุดประสงค์หลักของการประชุมคือการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง การหารือเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ในการประชุมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การถกประเด็นว่า ใครคือผู้ที่สามารถอ้างสิทธิได้โดยชอบธรรม หรือใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนถูก แต่เป็นการเสนอรายละเอียดในการปรับแก้เพื่อยกระดับปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DoC) ให้เป็นแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคในทะเลจีนใต้ (CoC) ระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งจีนได้ตกลงที่จะร่วมเจรจา CoC ในประเด็นว่าด้วยความประพฤติและความเคลื่อนไหวในพื้นที่ทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอแนวทางต่างๆ ในที่ประชุม เช่น การเปิดการเดินเรือเสรี การลดการผูกขาดน่านน้ำ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกัน และการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพื่อลดความขัดแย้งและเพิ่มความราบรื่นในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งทุกประเทศที่เกี่ยวข้องตระหนักดีว่า หากทุกฝ่ายสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ตามความพอใจของทุกฝ่าย จะนำไปสู่ผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับร่วมกัน และนี่อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์ และอาจเป็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ท่ามกลางจุดยืนอันแน่วแน่ของทุกประเทศที่เกี่ยวข้องที่จะยึดมั่นกับการรักษาอำนาจอธิปไตยของตนในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น การเจรจาเพื่อตัดสินว่า ใครจะได้ครอบครองและผูกขาดผลประโยชน์ในน่านน้ำดังกล่าวย่อมไม่เกิดขึ้นในเวทีการเจรจานี้อย่างแน่นอน

ด้านเศรษฐกิจ -- ประเทศจีนและอาเซียนมีความเกี่ยวพันกันในด้านเศรษฐกิจ โดยอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของจีน ขณะที่จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน และนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นภูมิภาคสำคัญของจีนในการดำเดินยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ภายใต้นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้จีนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างจีนและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจในอาเซียนกำลังเติบโตและมีโอกาสให้จีนได้เข้าไปลงทุนมากมาย ทำให้จีนมองเห็นถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ และเข้าร่วมประชุมและเจรจาในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 31

*ญี่ปุ่น

ในสายตาของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน มองว่า อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทั้งในแง่ความมั่นคงและเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่แอบกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนเช่นกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องมาเป็นห่วงเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ อาเซียนจึงเป็นหมากสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของญี่ปุ่นทั้งในเชิงความมั่นคง และเศรษฐกิจ

ด้านความมั่นคง -- สำหรับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ญี่ปุ่นจะจะได้รับจากการประชุมสุดยอด ASEAN Summit นั้น คือ การใช้เวทีนี้ในการแก้ปัญหาระดับภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายอาเบะได้หารือนอกรอบกับนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อหาข้อตกลงในการร่วมมือกันแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึง ประเด็นการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งสองประเด็นก็มีความเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน เนื่องจาก ญี่ปุ่นมีพื้นที่อยู่ไม่ไกลจากเกาหลีเหนือซึ่งการพัฒนาอาวุธท่ามกลางอุดมการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างเกาหลีเหนือและญี่ปุ่นย่อมไม่ส่งผลดีต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งญี่ปุ่นในฐานะประเทศมหาอำนาจประจำภูมิภาคย่อมไม่ต้องการให้สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ -- รายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสหภาพยุโรป และความคืบหน้าครั้งสำคัญที่ได้มาจากการประชุมรอบนี้ก็คือ การที่อาเซียนและญี่ปุ่นสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาเรื่องการค้าบริการได้สำเร็จ หลังจากที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากอาเซียนเข้าไปลงทุนด้านการบริการในญี่ปุ่นได้มากขึ้นในอนาคต เช่น การบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการก่อสร้าง บริการด้านการเงิน และบริการท่องเที่ยว ฯลฯ การประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 31 จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับญี่ปุ่นในแง่นี้

*เกาหลีใต้

ผลประโยชน์สำคัญที่เห็นได้ชัดที่สุดของเกาหลีใต้ในการเข้าร่วมประชุม ASEAN Summit รอบนี้ น่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง โดยเกาหลีใต้ต้องการแรงสนับสนุนจากอาเซียนในการกดดันเกาหลีเหนือ โดยได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นและสหรัฐ ในการร้องขอให้อาเซียน ร่วมกดดันให้เกาหลีเหนือยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธโดยเร็ว เพราะสำหรับเกาหลีใต้แล้ว ความเคลื่อนไหวนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีใต้อย่างชัดเจน เนื่องจากเกาหลีใต้มีเขตแดนติดกับเกาหลีเหนือ และทั้งสองประเทศยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือส่งผลให้บริเวณคาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน กล่าวคือมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะมากขึ้น เพราะเกาหลีเหนือเริ่มที่จะมีความสามารถในการตอบโต้ด้วยอาวุธร้ายแรง ซึ่งถ้าหากมีการปะทะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกาหลีใต้จะเป็นประเทศแรกที่ต้องเผชิญกับผลกระทบดังกล่าว ดังนั้น การที่กลุ่มผู้นำของอาเซียน และญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ได้ร่วมแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ที่การประชุมสุดยอด ASEAN Summit จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกาหลีใต้

*บทสรุป

การวิเคราะห์ถึงผลประโยชน์ที่ 4 ประเทศจะได้รับจากการเข้าร่วมประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 31 น่าจะช่วยให้เราได้มองเห็นภาพว่า ในขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผนึกกำลังกันแก้ปัญหาและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว ประเทศอื่น ๆ จะได้รับผลประโยชน์จากการมาร่วมเกี่ยวโยงกับอาเซียนหรือไม่ และเพราะเหตุใดต่างชาติจึงต้องให้ความสำคัญกับการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเมื่อเราลองวิเคราะห์ไปที่บทบาทของ 4 ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนแล้ว จะพอเห็นภาพได้ว่า เวที ASEAN Summit นี้ เป็นเวทีที่ให้ผลประโยชน์กับทุกประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย เพราะถ้าหากปราศจากซึ่งผลประโยชน์ใด ๆ “ใครเล่าจะสนใจ...."


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ