In Focusย้อนรอยการเมืองปี 2560 จาก "สหรัฐ" สู่ "เกาหลีเหนือ" "ยุโรป" และ"ตะวันออกกกลาง"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 6, 2017 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

In Focus สัปดาห์นี้ จะนำเสนอเรื่องราวของผู้นำทางการเมือง สถานการณ์ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2560 จากหลากหลายสถานการณ์ในหลายทวีป เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาและเป็นไปที่เกิดขึ้น โดยจะขอเริ่มจากผู้นำสหรัฐที่นำมาซึ่งสีสันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงผู้นำโสมแดงที่ไม่เคยว่างเว้นจากการทดสอบยิงขีปนาวุธและนิวเคลียร์

ผู้นำสหรัฐ

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐในยุคที่ถูกตั้งคำถามถึงความมุ่งมั่นในการทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อเดือนม.ค. 2560 ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐที่นอกจากจะตกเป็นเป้าสายตาด้วยอำนาจ บทบาท และตำแหน่งที่รั้งคออยู่แล้ว แต่ด้วยการกระทำและคำพูดของเจ้าตัวเอง กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ทรัมป์เดินอยู่ในเส้นทางการเมืองที่ตกเป็นเป้าของการโจมตี ต่อต้าน และวิจารณ์แทบจะตลอดเวลาทั้งในและต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้ามประชาชนจากอิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน เดินทางเข้าสหรัฐ ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงจากกลุ่มก่อการร้ายและความปลอดภัยในประเทศ แต่ท้ายที่สุดคำสั่งห้ามดังกล่าวก็ถูกศาลภายในประเทศ รวมทั้งประชาชนชาวสหรัฐ และกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาโจมตีด้วยเหตุผลที่ว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและมิหนำซ้ำยังเป็นการกีดกันด้านมนุษยธรรม ด้วยการปิดกั้นโอกาสประชาชนที่ต้องการลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองหรือแม้แต่เศษซากจากสงครามในประเทศที่ตกเป็นสมรภูมิรบด้วยชะตาที่ถูกกำหนดจากเงื้อมมือของชาติมหาอำนาจที่ต้องการให้ประเทศของตนเองกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั่นเอง

นอกเหนือไปจากการเมืองระหว่างประเทศที่เรียกเสียงวิจารณ์ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ประเด็นการเมืองภายในสหรัฐล่าสุดที่ย้อนกลับมาเล่นงานทรัมป์ก็มาจากคนใกล้ตัวในคณะทำงานที่แทบจะเรียกได้ว่า เกิดขึ้นเป็นระยะๆตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบันที่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม หนึ่งในประเด็นที่ตามหลอกหลอนทรัมป์มาโดยตลอดก็คือข้อกล่าวหาที่ว่า คณะทำงานหาเสียงในช่วงเลือกตั้งและคณะทำงานชุดปัจจุบันของทรัมป์มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัสเซีย

นายไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของผู้นำสหรัฐ ได้ให้การซัดทอดว่า ทรัมป์ สั่งการในเขาติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียในช่วงการเลือกตั้ง ฟลินน์เป็นเจ้าหน้าที่คนแรกของคณะทำงานทรัมป์ ที่ถูกระบุว่ามีความผิดข้อหาพัวพันในคดีติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว งานนี้ ทรัมป์คงจะต้องหาทางแก้ตัวไปอีกระยะอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การเดินทางเยือนเอเชียเป็นเวลา 11 วัน ช่วงเดือนพ.ย. 2560 ของทรัมป์ก็ไม่ได้เลวร้ายเหมือนกับผลงานทางการเมืองในประเทศ แต่จะว่าไปก็เป็นเพราะกึ๋นและฝีมือของประเทศเจ้าภาพที่ให้การต้อนรับเสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนให้ต้อนรับทรัมป์อย่างสมเกียรติผู้นำประเทศ ด้วยการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสด้านนอกประตูฝั่งตะวันออกของมหาศาลาประชาคมของจีน ทั้งที่ทรัมป์ให้การต้อนรับประธานาธิบดีสีเมื่อคราวเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการที่รีสอร์ทมาร์เอลาโกของเขาในฟลอริดา แทนที่จะเปิดทำเนียบขาวรับแขกระดับผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการ

ตลอดจนการพาทรัมป์เยี่ยมชมรอบพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่งด้วยตนเอง ส่งผลให้ท่าทีของทรัมป์ที่ตั้งเป้าจะมากดดันจีนให้แก้ปัญหาขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการบีบให้จีนจัดการกับเกาหลีเหนือแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทรัมป์กล่าวระหว่างทริปเยือนจีนว่า จีน ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า พร้อมกับแสดงจุดยืนในความเข้าใจที่มีต่อจีนว่า ปัญหาเกาหลีเหนือไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ อีกทั้งยังร่วมเป็นสักขีพยานกับผู้นำจีนในการลงนามมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของบริษัท โบอิ้ง เจเนอรัลอิเล็กทริก และควอลคอมม์ กับคู่ค้าของจีนในกรุงปักกิ่ง

ใช่ว่าจะมีแต่ขวากหนาม ล่าสุด ผลงานชิ้นที่พอจะสร้างชื่อได้ก็ชัดเจนก่อนที่จะถึงสิ้นปีของทรัมป์ก็คือ ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐที่จนแล้วจนรอดก็ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภาสหรัฐที่มีมติรับรองร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีด้วยคะแนนเสียง 51-49 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่วุฒิสมาชิกฝั่งเดโมแครตทุกรายโหวตไม่รับรองร่างกฎหมายดังกล่าว และขั้นตอนต่อจากนี้ สภาคองเกรสสหรัฐก็จะต้องรวมร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นร่างเดียวกัน และให้การอนุมัติ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ ทรัมป์ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ผู้นำเกาหลีเหนือ

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ควรจะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงต่อจากผู้นำสหรัฐในฐานะที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้โต้คารมกันอย่างดุเดือดจนทำให้ทั่วโลกหวาดหวั่นว่า จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 จากวิวาทะของ 2 ผู้นำปากกล้าทั้ง 2 ประเทศนี้หรือไม่ ในปีนี้ คิม จอง อึน ตกเป็นข่าวตั้งแต่ต้นปี เมื่อนายคิม จอง นัม ซึ่งเป็นพี่ชายต่างมารดาของนายคิม จอง อึน ได้ถูกฆาตกรรมที่สนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ. ด้วยสารพิษ "VX Nerve Agent" ที่ใช้ในการผลิตอาวุธเคมี เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการวิเคราะห์ตามมาว่า ผู้ใดเป็นผู้ลงมือก่อเหตุและใครอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของพี่ชายต่างมารดา ซึ่งต่อมาข่าวดังกล่าวก็ถูกบดบังด้วยการทดสอบขีปนาวุธและการโต้คารมของคิม จอง อึน และโดนัลด์ ทรัมป์

ช่วงเดือนก.ย.เป็นอีกเดือนที่เกิดศึกโต้คารมเมื่อทรัมป์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยทรัมป์กล่าวถึงเกาหลีเหนือว่า หากสหรัฐถูกคุกคามจากเกาหลีเหนือ และหากสหรัฐถูกบังคับให้ต้องปกป้องตนเอง สหรัฐก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากที่จะต้องทำลายเกาหลีเหนือให้สิ้นซาก เมื่อถูกทรัมป์กล่าวถึงเช่นนี้ คิม จอง อึน ก็ไม่ยอมน้อยหน้า รีบออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐว่า จะเผชิญกับมาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวจากเกาหลีเหนือในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

นอกเหนือไปจากการกล่าวถึงเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการในเวทีระดับโลกแล้ว ผู้นำสหรัฐซึ่งนิยมชมชอบกับการใช้ทวิตเตอร์ก็เคยทวีตถึงผู้นำเกาหลีเหนือว่า เป็นมนุษย์จรวดบ้าง หรือมนุษย์ที่ทั้งอ้วนและเตี้ย หลังจากที่ผู้นำโสมแดงกล่าวถึงทรัมป์ว่าเป็นคนแก่และแถมบ้าอีกด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือก็ได้ยิงขีปนาวุธ ICBM อีกครั้ง พร้อมกับประกาศความสำเร็จในการยิงขีปนาวุธที่อ้างว่า สามารถยิงโจมตีได้ถึงทั่วทุกพื้นที่ของสหรัฐ ซึ่งหลังจากนั้น นายคิม จอง อึน ก็ออกมาประกาศตอกย้ำความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจของประเทศถึงการเป็นรัฐนิวเคลียร์ได้อย่างสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ระดับประวัติศาสตร์

ปีหน้า เราคงจะต้องติดตามรัฐนิวเคลียร์กันต่อไปว่า ขีปนาวุธของคิม จอง อึน จะสามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ได้มากกว่าเดิมหรือไม่ รัศมีการยิงจะไกลกว่าเดิมและอยู่บนอากาศได้นานจนทำลายสถิติเดิมหรือไม่

กระแสแยกตัวเป็นเอกราช: กาตาลุญญา VS สเปน

นอกเหนือไปจากการเจาะจงตัวผู้นำที่สร้างกระแสและเสียงวิจารณ์จากทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวไปแล้ว ความเคลื่อนไหวเพื่อการแยกตัวเป็นเอกราชก็ยังคงเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในปี 2560 เมื่อนายคาร์เลส ปุกเดมองต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาได้ประกาศการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่ชาวคาตาลันในแคว้นกาตาลุญญาราว 90% ได้ลงประชามติแยกตัวออกจากสเปน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลางสเปนได้บุกเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อยับยั้งการลงประชามติก็ตาม

ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาอ้างว่า ชาวคาตาลันราว 2.26 ล้านคนได้ออกมาลงประชามติในครั้งนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42% ของประชากรทั้งหมด ทำให้กาตาลุญญาสามารถประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนได้ แต่รัฐบาลกลางสเปนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ไม่ยอมรับผลการลงประชามติดังกล่าว พร้อมสั่งให้ตำรวจบุกเข้าไปยังคูหาเลือกตั้งหลายแห่ง เพื่อระงับการลงประชามติของแคว้นกาตาลุญญา โดยมีการใช้กระบองทุบตีประชาชน ยิงด้วยกระสุนยาง และใช้แก๊สน้ำตา เพื่อสลายฝูงชน ส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

แม้ว่า จะมีความพยายามที่จะคลี่คลายสถานการณ์ แต่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ยอมประนีประนอมจนในที่สุดนายกรัฐมนตรีสเปน ได้ประกาศใช้มาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญ ในปลายเดือนต.ค. เพื่อเข้าปกครองแคว้นกาตาลุญญา เพิกถอนสิทธิในการปกครองตนเอง รวมทั้งปลดคณะรัฐบาลคาตาลัน ขณะที่นายปุกเดมองต์และพรรคพวกก็ได้หลบไปอยู่ที่เบลเยียมจนถึงปัจจุบัน

ความเคลื่อนไหวของการแยกตัวเป็นเอกราชของกาตาลุญญานั้นแม้ว่าจะแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ แต่จะว่าไปเรื่องทำนองนี้ก็มักจะเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อประชาชนรู้สึกไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของรัฐบาลในทำนองว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจนอยากออกมาบริหารประเทศกันเอง แต่จนแล้วจนรอด นายปุกเดมองต์ก็หมดอำนาจและไม่สามารถกลับมานำแคว้นกาตาลุญญาให้แยกตัวเป็นอิสระได้ ขณะที่สเปนเองเตรียมจัดการเลือกตั้งในแคว้นกาตาลุญญาขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

กาตาร์ VS ชาติอาหรับ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) พร้อมด้วย ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และอียิปต์ ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ เมื่อเดือนต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มภราดรภาพแห่งมุสลิม (Muslim Brotherhood) ตลอดจนแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเหล่านั้น และในเวลาต่อมา เยเมน มัลดีฟส์ และลิเบียก็ได้ตัดสินใจประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของอียิปต์มองว่า การที่บรรดาประเทศอาหรับได้ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ทำให้กาตาร์ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้น ถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาคอาหรับโดยสิ้นเชิง

จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้ว แม้ว่า หลายฝ่ายจะเสนอตัวเข้ามาเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงความพร้อมในการเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโกที่เสด็จเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์เมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้นแต่อย่างใด

กาตาร์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยประกาศงดเว้นวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติจาก 80 ประเทศเมื่อเดือนส.ค. เปิดทางให้ประชาชนจาก 33 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติในยุโรป เดินทางมาพำนักในกาตาร์เป็นเวลา 180 วันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ส่วนชาวสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา และประชาชนจากอีก 44 ประเทศสามารถเดินทางเข้าสู่กาตาร์โดยไม่ต้องใช้วีซ่าเป็นเวลา 30 วัน และจะสามารถขยายต่อไปอีก 30 วัน เพื่อรับมือผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติอาหรับ และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2565

ขณะที่ธนาคารกลางกาตาร์ได้เปิดเผยปริมาณเงินทุนสำรอง และสภาพคล่องระหว่างประเทศเดือนก.ย.ที่ลดลง เนื่องจากกระแสเงินทุนไหลออก หลังจากที่มีการออกมาตรการคว่ำบาตรของชาติอาหรับ จนปริมาณเงินทุนสำรอง และสภาพคล่องระหว่างประเทศลดลงสู่ระดับ 3.56 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 จากระดับ 3.90 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค.

ท้ายที่สุดแล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายได้หรือไม่ก็ต้องดูซาอุดิอาระเบียภายใต้อำนาจมกุฎราชกุมาร “โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" เป็นอันดับแรก ขณะที่การเมืองระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือนั้น จะปะทุขึ้นมาเป็นระลอกเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ และการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจะเกิดขึ้นอีกในประเทศใด คงต้องติดตามกันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ