ความคืบหน้าในการดำเนินการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 31, 2014 16:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซาเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ดำเนินการช่วยเหลือแรงงานชาวไทยที่ทำงานในประเทศอิสราเอล โดยเฉพาะที่ทำงานในนิคมเกษตรกรรมที่อยู่ติดกับฉนวนกาซา ๑๗ แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากจรวดที่ถูกยิงเข้ามาและเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยอันดับแรก ดังนี้

๑. ฝ่ายกงสุลและฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ได้เคลื่อนย้ายแรงงานไทยที่ทำงานในนิคมเกษตรกรรมในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณฉนวนกาซารวม ๑๗ แห่ง ที่แจ้งความจำนงออกจากพื้นที่แล้ว โดยย้ายออกแล้ว จำนวน ๘๒ รายจากการแจ้งขอย้ายออก ๑๑๖ ราย โดยในจำนวนนี้ มี ๒๑ ราย เปลี่ยนใจขออยู่ที่เดิม และอีก ๑๓ ราย รอการช่วยเหลือเคลื่อนย้าย ทั้งนี้ ฝ่ายอิสราเอลยืนยันว่า การย้ายงานไปทำงานที่อื่นชั่วคราวตามช่องทางที่จัดเตรียมไว้ให้ แรงงานทุกคนจะได้รับเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ และค่าจ้างในการทำงานในที่ใหม่ตามกฎหมายกำหนด ส่วนเงินชดเชยในการหยุดงาน สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังหารือกับฝ่ายอิสราเอล

๒. ที่ผ่านมา แรงงานหลายคนยังต้องการทำงานที่เดิม ไม่ต้องการย้ายจากที่ทำงาน ในขณะที่บางส่วนได้ขอกลับประเทศไทยโดยความสมัครใจ สำหรับแรงงานที่ยังทำงานที่เดิม โดยเฉพาะนิคมเกษตรกรรมที่อยู่ใกล้กับฉนวนกาซา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานกับนายจ้างขอความร่วมมือให้อนุญาตให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ หยุดงานได้ชั่วคราวหรือลากลับไปพักงานที่ประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว(อินเตอร์วีซ่า)

๓. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีหนังสือแจ้งทางการอิสราเอลขอเพิ่มที่หลบภัย ซึ่งทางการอิสราเอลได้สร้างที่หลบภัยเพิ่มเติมตามนิคมเกษตรกรรมต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณฉนวนกาซาอย่างทั่วถึงและเพียงพออันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้แก่แรงงานไทยในบริเวณดังกล่าวให้มากขึ้น

๔. จากการประมวลข้อมูลจากแรงงานไทย พบว่า สาเหตุหลักที่แรงงานไทยบางส่วนมีความลังเลในการตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่

๔.๑ ความกังวลว่าจะต้องย้ายไปอยู่สถานที่ที่ลำบากกว่าเดิม เช่น อากาศร้อน แห้งแล้ง เป็นต้น แม้ว่าเขตพื้นที่ใหม่จะเสี่ยงภัยจากการโจมตีด้วยจรวดน้อยกว่าก็ตาม

๔.๒ ความกังวลว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างคนปัจจุบันหากย้ายออกไป

๔.๓ ความกังวลว่า หากย้ายไปแล้ว สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ นายจ้างปัจจุบันจะไม่รับกลับเข้าทำงานที่เดิม ซึ่งตามข้อกำหนดของการตรวจลงตราของแรงงานไทยแต่ละคนมีการกำหนดชื่อนิคมเกษตรกรรมที่แรงงานไทยจะต้องเข้ามาทำงานชัดเจนอยู่แล้ว

๔.๔ ความเป็นห่วงว่าเพื่อนแรงงานไทยที่ไม่ต้องการย้ายออกไปจะว่ากล่าวหรือติฉินนินทา

๔.๕ ความกลัวในการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ต่อความกังวลต่างๆ ข้างต้น สถานเอกอัครราชทูตฯ และฝ่ายแรงงานจะได้พยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับแรงงานไทยดังกล่าวต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ