การประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ ๑๒

ข่าวต่างประเทศ Friday November 14, 2014 13:02 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๔๕ - ๑๔.๔๕ น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดีย ครั้งที่ ๑๒ ณ ศูนย์ประชุม Myanmar International Convention Centre 1 (MICC-1) กรุงเนปิดอว์ โดยมีนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ เป็นประธาน และมีนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เข้าร่วม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน - อินเดียครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีไทยและอินเดีย

ผู้นำอาเซียนและอินเดียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน - อินเดีย ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการลงนามความตกลงด้านการค้าบริการและการลงทุนระหว่างกัน และเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการนำความตกลงดังกล่าวมาใช้ในโอกาสแรก เพื่อช่วยให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๕๘ อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์อาเซียน - อินเดีย นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการขยายความเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพ กฎระเบียบและประชาชน โดยเฉพาะการเร่งรัดการสร้างถนนสามฝ่าย ไทย - เมียนมาร์ - อินเดีย ให้แล้วเสร็จ รวมทั้งการขยายเส้นทางดังกล่าวไปยัง สปป. ลาว เวียดนามและกัมพูชา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการหารือแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อรับมือประเด็นท้าทายข้ามพรมแดนที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน อาทิ การก่อการร้าย การฟอกเงิน การจัดการภัยพิบัติ และอาชญากรรมไซเบอร์

นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียน - อินเดีย โดยเห็นควรมุ่งส่งเสริมให้อินเดียมีบทบาทที่สร้างสรรค์มากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

โดยนายกรัฐมนตรีได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือ ดังนี้ (๑) ผลักดันการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - อินเดียอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน (๒) เสนอให้พัฒนาเครือข่ายคมนาคมระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพอย่างรอบด้าน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้ง การพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และประชาชน และ (๓) เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมระหว่างกัน โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทั้งสองฝ่ายในสาขาต่างๆ เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในทั้งสองภูมิภาค

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ