การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 27, 2015 13:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานในพิธีเปิด และมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุม ในวันที่ ๒๙ พ.ค. ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างยั่งยืน โดยไทยได้เชิญประเทศที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในกระบวนการบาหลี (Bali Process) และที่ได้รับผลกระทบจำนวน ๑๖ ประเทศ ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ ๓ ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ๓ องค์กรเข้าร่วม รวมถึงได้เชิญเอกอัครราชทูตฯ ที่สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยหัวข้อหลักของการประชุมได้แก่

๑. เร่งการแก้ไขปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ประมาณ ๗,๐๐๐ คน

๒. ร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวของการย้ายถิ่นฐานของผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย โดยเน้นเรื่องการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

๓. การเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักของการประชุมดังนี้

๑. ผลักดันให้เป็นประเด็นที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง ทั้งนี้ ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่าน

๒. เน้นการใช้หลักการร่วมแบ่งปันภาระระหว่างประเทศ (International Burden Sharing)

๓. ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศต้นทางและประเทศในภูมิภาค

สำหรับประเด็นการแก้ปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ที่คาดว่ามีประมาณ ๗,๐๐๐ คนที่ลอยอยู่ในทะเลลึกนั้น รัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมโดยกองทัพไทย ปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้นตามขีดความสามารถของประเทศไทย และขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยได้จัดกำลังเป็นส่วนลาดตระเวนทางอากาศและส่วนลาดตระเวนทางเรือ เพื่อตรวจสอบทะเลบริเวณเขตรอยต่อของประเทศไทย เพื่อเป็น floating platform ในการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จนกว่าที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะพร้อมรับไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวตามที่ได้ประกาศไว้ โดยในเรือที่ทำหน้าที่เป็น floating platform นั้นจะประกอบด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ทีมสอบสวนการค้ามนุษย์ และทีมบันทึกประวัติข้อมูลเพื่อคัดแยกและส่งต่อ หากมีการตรวจพบผู้ค้ามนุษย์ ก็จะดำเนินคดีต่อไป และหากมีผู้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าประเทศไทย ก็จะปฏิบัติต่อคนเหล่านี้โดยยึดหลักมนุษยธรรม และหลังจากนั้นก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไทยต่อไป

เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้ประสานฝ่ายสหรัฐฯ ให้ร่วมส่งเรือ เพื่อทำเป็น floating platform และสำหรับที่มีข่าวว่าสหรัฐฯ จะขอปฏิบัติการภารกิจบินลาดตระเวนในพื้นที่ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยให้ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการนั้น ฝ่ายไทยก็ได้แจ้งว่า หากจะปฏิบัติการร่วมกันก็ยินดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ ส่งรายละเอียดมามากกว่านี้ และให้การปฏิบัติการดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจของไทย ทั้งนี้ ได้ประสานรายละเอียดแล้ว และอยู่ระหว่างรอคำตอบอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ การปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมของประเทศไทยครั้งนี้ มีความพร้อมตั้งแต่วันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๕๘ และจะเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป และจะจบภารกิจเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุม

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ