การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ ๑๖

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 9, 2018 14:54 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 18 – 21 ธันวาคม 2560 คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 16 (16th Meeting of the States Parties to the Convention on the Prohibition of the Use, Stockpiling, Production and Transfer of Anti-Personnel Mines and on Their Destruction) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ โดยมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม

การประชุมรัฐภาคีฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประชุมประจำปีเพื่อติดตามพัฒนาการต่าง ๆ ในกรอบอนุสัญญาฯ แล้ว ยังเป็นการประชุมครั้งที่มีความสำคัญกับไทยหลายประการ กล่าวคือ ที่ประชุมฯ ได้ให้การรับรองคำขอขยายเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ของไทยออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561– 31 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯและปลดปล่อยพื้นที่คืนให้แก่ชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป และที่ประชุมฯ ยังได้รับรองการเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการด้านการส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือ (Committee on the Enhancement of Cooperation and Assistance) วาระปี 2561 - 2562 ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิกของไทยในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยในการแสดงบทบาทนำด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในมิติที่เกี่ยวข้องกับกรอบอนุสัญญาฯ นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือแนวทางการจัดทำรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Guidance on Victim Assistance Reporting) ฉบับภาษาสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งไทยได้ริเริ่มการจัดทำแนวทางฉบับภาษาอังกฤษขึ้นในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาระปี 2559 ซึ่งงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอีกหนึ่งมิติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯที่ไทยได้มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์โดยตลอดและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

ตั้งแต่ปี 2540 อนุสัญญาฯ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดตกค้าง โดยกำหนดแนวทางสากลเพื่อยุติการผลิต ถ่ายโอน และใช้ทุ่นระเบิด รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และป้องกันการเกิดเหยื่อใหม่ โดยในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทุ่นระเบิดถูกกวาดล้างไปแล้วจาก 30 ประเทศที่มีการปนเปื้อน และมีอีก 31 ประเทศที่ยังคงต้องดำเนินการต่อไปรวมถึงไทย ทั้งนี้ ไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาฯ เมื่อปี 2542 เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลำดับที่ 53 ของโลก โดยได้ดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดไปแล้วกว่าร้อยละ 80 และคงเหลือพื้นที่ดำเนินการอีกประมาณ 422 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่ง ไทยมุ่งมั่นจะดำเนินการกวาดล้างทุ่นระเบิดตกค้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ