รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 21, 2014 12:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 เมษายน 2557

Summary:

1. ธปท. เผย 2 เดือนแรกปี 57 ภาพรวมสินเชื่อเติบโตแค่ 4 หมื่นล้าน

2. สนพ. ชงขยายสิทธิใช้ก๊าซหุงต้มราคาถูก

3. เฟดเชื่อสหรัฐฯ ใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2 ปี คงการกระตุ้นต่อเนื่อง

1. ธปท. เผย 2 เดือนแรกปี 57 ภาพรวมสินเชื่อเพิ่มขึ้นแค่ 4 หมื่นล้าน
  • โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการเข้มงวดของทางธนาคารพาณิชย์ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 เพิ่มขึ้นเพียง 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบกับยอดคงค้างของสินเชื่อทั้งระบบ ที่ 14.7 ล้านล้านบาท โดยพบว่าสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจ ขยายตัวสูงกว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจเกิดจากฤดูกาลของสินเชื่อที่ช่วงต้นปีมีการขอสินเชื่อน้อยกว่าช่วงอื่น และภาคเอกชนมีการคืนสินเชื่อบางส่วน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ได้เร่งปล่อยสินเชื่อไปตั้งแต่ปลายปีก่อน เพื่อปิดงบของธนาคาร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปี 56 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.9 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับมีการเร่งขยายตัวสินเชื่อไปมากแล้วในช่วงต้นปี 56 ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงสถานภาพของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน พบว่ายังคงมีความแข็งแกร่ง โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 15.5 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5
2. สนพ. ชงขยายสิทธิใช้ก๊าซหุงต้มราคาถูก
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเตรียมเสนอ กบง.อนุมัติปรับเงื่อนไขเพิ่มขนาดพื้นที่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รับสิทธิซื้อก๊าซหุงต้มราคาถูกเป็น 100 ตารางเมตรโดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. พิจารณาอนุมัติเร็วๆนี้ ให้เพิ่มขนาดพื้นที่ของร้านค้าที่จะได้รับสิทธิเข้าโครงการจากเดิมไม่เกิน 50 ตารางเมตร เป็น 100 ตารางเมตร และให้ร้านอาหารในห้าง มีสิทธิเข้าร่วมโครงการซื้อก๊าซหุงต้มในราคาอุดหนุนได้ ทั้งนี้ข้อมูลการใช้สิทธิซื้อแอลพีจีในราคาเดิม 18.13 บาทต่อกิโลกรัมพบว่า ในกลุ่มครัวเรือนมาขึ้นทะเบียนเพียง 8 หมื่นราย ขณะที่ร้านค้าหาบเร่แผงลอยมาขึ้นทะเบียนไว้ 1 แสนรายเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนของภาครัฐมีส่วนช่วยลดแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อ โดยราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 21.13 บาทต่อกิโลกรัมและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ จากแบบจำลองอัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจไทยของ สศค. นโยบายการปรับก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนจะส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 และเมื่อรวมกับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 1.7-2.7 (ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 57)
3. เฟดเชื่อสหรัฐฯ ใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2 ปี คงการกระตุ้นต่อเนื่อง
  • นางเจเน็ต เยลเลนกล่าวปราศรัยถึงท่าทีการทำนโยบายการเงินในปัจจุบันของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ว่าแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวในหลายตัวชี้วัด แต่สถานะในปัจจุบันยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายที่เฟดมองว่าเป็นระดับศักยภาพซึ่งการไปสู่จุดนั้นอาจใช้เวลามากกว่า 2 ปี โดยเฉพาะในด้านตลาดแรงงานที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลถึงการเร่งตัวของเงินเฟ้อผ่านทางค่าจ้างที่เป็นไปในอัตราที่ช้าเป็นประวัติการณ์ นางเยลเลนมองว่าโอกาสที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวนั้นมีน้อยมาก เฟดจึงมีความเห็นว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายเชิงปริมาณจึงจะยังคงดำเนินต่อไป โดยเฟดคาดการณ์ว่าในปี 2016 อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.2-5.6 ในขณะที่เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.7-2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เฟดแสดงท่าทีระมัดระวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างแท้จริง ปัจจัยกำหนดในการทำนโยบายของเฟดในปัจจุบันไม่ได้พิจารณาเพียงแค่เป้าหมายตัวเลขอัตราการว่างงานเดิมที่อาจไม่ได้สะท้อนความเปราะบางในบางจุด เฟดจึงได้พิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจอีกจำนวนมากเพื่อยืนยันว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ จากการพิจารณาล่าสุดเฟดยังเห็นความจำเป็นในการอัดฉีดเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปอีกระยะหนึ่ง นัยยะต่อเศรษฐกิจไทยคือช่วงเวลาของการซ่อมแซมเศรษฐกิจด้วยสภาพคล่องเริ่มเหลือน้อยลงทุกขณะ ในแง่หนึ่ง คือการพลาดการฉวยโอกาสในช่วงที่ผ่านมาและกำลังเสียโอกาสในปัจจุบันทำให้การลงทุนของไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนที่แพงขึ้น ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในด้านการส่งออกทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับไทย เนื่องจากไทยอาจเสียประโยชน์จากสภาพคล่องที่จะหมดลง แต่ไม่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากด้านการค้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ