รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2014 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์อนุมัติต่างชาติลงทุนไทย 41 รายเงินลงทุน 2,065 ล้านบาท

2. สศก.เผยดัชนีราคาผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง คาดเดือน ต.ค. 57 ลดต่อเนื่อง

3. เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ของปี 57 ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 7.3 ต่อปี

1. พาณิชย์อนุมัติต่างชาติลงทุนไทย 41 รายเงินลงทุน 2,065 ล้านบาท
  • อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยในที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่าได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย 41 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวยื่นขออนุญาตครั้งแรก 21 ราย ทำให้คนต่างด้าวต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจ 2,065 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 589 คน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากยอดการอนุมัติต่างชาติลงทุนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือน ส.ค.57 อยู่ที่ระดับ 49.1 นอกจากนี้จากยอดการอนุมัติต่างชาติลงทุนเริ่มปรับตัวดีขึ้นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการจ้างงานของไทย โดยข้อมูลล่าสุดการจ้างงานของไทยในเดือน ก.ย. 57 พบว่า มีจำนวนการจ้างงานจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนเป็นเดือนที่ 2 จากสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่มีจ้างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1.7 แสนคน รองลงมาคือบริการด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/กลุ่มและบริษัทคู่ค้า ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง ธุรกิจคู่สัญญาภาครัฐ/ธุรกิจสำนักงานผู้แทนและธุรกิจนายหน้ารัฐวิสาหกิจโดยประเทศที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์
2. สศก.เผยดัชนีราคาผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง คาดเดือน ต.ค. 57 ลดต่อเนื่อง
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาในเดือน ก.ย. 57 มีค่า 139.87 หดตัว -9.6 ต่อปี และคาดว่าเดือน ต.ค. จะลดลงต่อเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ย.57 มีค่า 100.97 ลดลงร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยในเดือน ต.ค. 57คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยสินค้าสำคัญ ที่ออกสู่ตลาดมาก คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวนาปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกัลช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -3.4 ต่อเดือนหักผลทางฤดูกาล (m-omSA) โดยเป็นการลดลงในราคาสินค้ากลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร กลุ่มไม้ยืนต้นกลุ่มพืชไม้ดอกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานทั้งในประเทศและตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลัก เช่น เวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดีราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี
3. เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3 ของปี 57 ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 7.3 ต่อปี
  • เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัว ร้อยละ 7.5 ต่อปี และนับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก จนทำให้เพิ่มโอกาส ที่ทางการจีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี เป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในสินทรัพย์คงทนที่ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากยอดค้าปลีกของสินค้าและการลงทุนในสินทรัพย์คงทนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 11.9 และ 16.1 ต่อปี ตามลำดับ ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 และ 16.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี และเป็นมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 55 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าทรงตัวจากไตรมาสที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี สำหรับเศรษฐกิจจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัว ร้อยละ 7.4 ต่อปี ตามการบริโภคที่ขยายตัวได้ดีและการฟื้นตัวของการส่งออก ขณะที่การลงทุน ในสินทรัพย์คงทนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 57 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.3 ต่อปี (ณ กรกฎาคม 57) และในเดือรตุลาคม 57 สศค. จะมีการการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ