ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2015 14:13 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เวลา 13.30 น. (เวลาประเทศไทย) JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Issuer Rating) และสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Issuer Rating) ที่ระดับ A- และ A ตามลำดับ และปรับสถานะมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากลบ (Negative Outlook) เป็นมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ดังตาราง

ตารางแสดงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย JCR ณ วันที่ 2 เมษายน 2558

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย JCR                              สถานะ         Outlook
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ
Foreign Currency Long-Term Issuer Rating                          A-          Negative  Stable
อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวสกุลเงินบาท
Local Currency Long-Term Issuer Rating                            A           Negative  Stable
เพดานความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
Country Ceiling                                                   A+                   -

JCR ได้ชี้แจงเหตุผลในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งนี้ ดังนี้

1. การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือและการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือโดย JCR ในครั้งนี้สะท้อนจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศ รวมถึงเสถียรภาพของระบบธนาคาร การรักษาสถานะภาคการคลังให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยเปรียบเทียบ และดุลภาคต่างประเทศที่เข้มแข็ง ขณะที่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป อาทิ จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง และการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง อันเนื่องมาจากอุปทานด้านแรงงานที่ตึงตัวและการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ การที่รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2557 ได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมส่งต่ออำนาจให้รัฐบาลพลเรือน JCR จะจับตามองพัฒนาการของการปฏิรูปทางการเมืองในอนาคตและการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 รวมถึงจับตามองว่า รัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาโครงสร้างประชากรและหลีกเลี่ยงจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางอย่างไรภายใต้ความยากลำบากด้านสถานการณ์ทางการเมือง

2. เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นในระดับหนึ่งตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2557 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน และจากการที่ประเทศไทยได้ถูกรวมอยู่ในเครือข่ายการผลิตและการกระจายสินค้าของอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในเอเชียตะวันออก (อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 24.8 ล้านคน เมื่อปี 2557 อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของ GDP อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาคส่งออกดูเหมือนจะฟื้นตัวได้ไม่ดีนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนและสหภาพยุโรปไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น JCR คาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างจำกัด ขณะที่ต้องจับตามองการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอนาคต

3. การเกินดุลการค้าของประเทศขยายตัวมากขึ้นในปี 2557 เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งชดเชยกับการขาดดุลบัญชีรายได้ เป็นผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุล อย่างไรก็ดี JCR คาดว่า การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่มากนักเพราะการนำเข้าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และแม้ว่าการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะลดลงในปี 2557 จากผลกระทบของวิกฤตทางการเมือง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบที่ 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในทางกลับกัน การไหลออกสุทธิของเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ได้เพิ่มสูงขึ้นในปี 2557 ส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุล 2 ปีติดต่อกัน และยังส่งผลให้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่รวมทองคำมีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 151.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยอยู่ในระดับสูงสุดที่ 173.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2555 โดย ณ สิ้นปี 2557 สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นยังอยู่ในระดับมั่นคงที่ 2.6 เท่า

4. ฐานะทางการคลังของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งจากการที่รัฐบาลปฏิบัติตามกรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยคาดว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จะขาดดุลงบประมาณที่ร้อยละ 2 ของ GDP ถึงแม้ว่าหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบที่ร้อยละ 47.2 และแม้ว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้วางแผนจะลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นอกกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี รัฐบาลปัจจุบันได้ทบทวนโครงการและมีแผนจะดำเนินโครงการต่อใน 5 สาขา ให้แล้วเสร็จ โดยจะใช้เงินจากการกู้ยืมของรัฐบาล รายได้และ/หรือเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

5. ภาคการธนาคารของประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพตลอดช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง โดยในปี 2557 สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.2 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อปี 2555 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังอยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบที่ร้อยละ 16.7 (เงินกองทุนชั้นที่ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 13.7) ณ สิ้นปี 2557

ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร. 02 265 8050 ต่อ 5518

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ