รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 21, 2015 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง มีผลวันนี้

2. บสย. ดึง 22 สถาบันการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปล่อยสินเชื่อ SMEs

3. จีนมีแผนผ่อนคลายข้อกำหนดการออกพันธบัตรเอกชน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง มีผลวันนี้
  • ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกสิกรไทยและไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง ตั้งแต่วันนี้ (21 พ.ค.) โดย ธ.กสิกรไทย จะปรับลดดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ร้อยละ 6.50 MOR อยู่ที่ร้อยละ 7.37 และ MRR อยู่ที่ร้อยละ7.87 ต่อปี ขณะที่ ธ.ไทยพาณิชย์ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR มาอยู่ที่ร้อยละ 6.525 MOR อยู่ที่ร้อยละ 7.4 และ MRR อยู่ที่ร้อยละ7.82 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเป็นผลจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินลงเหลือร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการลดลงของดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้นผ่านต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับตัวลง และการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ต่อปี(โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 - 4.2) ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 58
2. บสย. ดึง 22 สถาบันการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปล่อยสินเชื่อ SMEs
  • ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า ตลอดไตรมาส 2 และ 3 บสย. กำหนดแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ชื่อโครงการ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs โดยมี บสย.ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และ สุราษฏร์ธานี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ บสย. ได้มีมาตรการดังกล่าวขึ้นมานั้น เพื่อเป็นการกระตุ้น การลงทุนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีจากข้อมูลล่าสุด ยอดสินเชื่อของสถาบันการเงินในเดือน มี.ค. 58 มียอดคงค้าง 15.50 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และเมื่อจำแนกตามประเภทของสินเชื่อพบว่า สินเชื่อภาคธุรกิจกลับมาชะลอลงเล็กน้อยจากการหดตัวของสินเชื่อธุรกิจในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมที่ กนง.ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 58 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของยอดขอสินเชื่อทั้งระบบ ทำให้การบริโภคและการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวและช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการลงทุน โดยธนาคารพาณิชย์ก็ตอบรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี
3. จีนมีแผนผ่อนคลายข้อกำหนดการออกพันธบัตรเอกชน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สำนักงานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) กำลังพิจารณาผ่อนคลายข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกพันธบัตรเอกชน เพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้างและการอุปโภคบริโภคในบางภาคส่วนโดย NDRC ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุมัติการออกพันธบัตรเอกชนทุกประเภทนั้น วางแผนที่จะยกเลิกโควต้าพันธบัตรเอกชนบางประเภทที่มีความเชื่อมโยงกับการลงทุนในโครงการก่อสร้างหลักๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ขณะนี้จีนกำลังใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อชดเชยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 ขยายตัวเพียงร้อยละ 7.0 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณของจีนในเดือน เม.ย. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรัฐบาลจีนวางแผนที่จะให้มีการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ในปีนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะรับมือกับแรงกดดันช่วงขาลงที่มีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น 1) การอนุมัติแผนแม่บทระดับชาติที่มีชื่อว่า "Made in China 2025" ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคการผลิต 2) การส่งเสริมการแปลงสภาพเงินหยวนภายใต้บัญชีทุน 3) การเริ่มแผนการขั้นทดลองในการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้นและตลาดหุ้นฮ่องกง และ 4) การประกาศใช้แนวทางเพื่อเร่งให้เกิดความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศอื่นๆ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ