รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 13:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. 'ประสาร' ชี้เศรษฐกิจไทยยังสะดุด ดอกเบี้ยส่อหั่นลงอีกในอนาคต

2. ผู้ว่า BOJ ชี้มีสัญญาณบ่งชี้ญี่ปุ่นกำลังเอาชนะเงินฝืด สะท้อนนโยบายการเงินปัจจุบันได้ผล

3. ความไม่สงบทางการเมืองไม่กระทบราคาน้ำมัน

1. 'ประสาร' ชี้เศรษฐกิจไทยยังสะดุด ดอกเบี้ยส่อหั่นลงอีกในอนาคต
  • ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงสะดุดอยู่ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันไปแล้ว โดยยอมรับมีโอกาสที่ไทย จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเครื่องชี้ด้านต่างๆของไทย พบว่าภาคเอกชนยังคงมีความกังวลด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วง 4 เดือนแรกยังคงไม่สดใส เช่น ยอดขายปูนซีเมนต์ในช่วงสี่เดือนแรก หดตัวร้อยละ -2.7 สะท้อนให้เห็นถึงการทรงตัวของการลงทุนด้านการก่อสร้าง ส่วนด้านเกษตรกรรมก็ยังได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนือง ด้านภาคการบริโภคพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยล่าสุดในเดือน เม.ย. ดัชนีอยู่ที่ระดับ 66.0 ลดลงต่ำสุดในรอบสิบเดือน นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกที่มีการหดตัวที่ร้อยละ -4.7 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกภาคบริการหรือด้านการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี จากนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังคงไม่สดใสในช่วง 4 เดือนแรก ซึ่งทาง สศค. หวังว่าในช่วงที่เหลือของปี การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐน่าจะสามารถเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนให้หันมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด โดยมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 50 โดยประมาณ
2. ผู้ว่า BOJ ชี้มีสัญญาณบ่งชี้ญี่ปุ่นกำลังเอาชนะเงินฝืด สะท้อนนโยบายการเงินปัจจุบันได้ผล
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยญี่ปุ่นกำลังผ่านพ้นภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมานานเกือบสองทศวรรษ โดยอ้างถึงสัญญาณบวกต่างๆ เช่น เงินเฟ้อคาดการณ์ และการปรับขึ้นค่าตอบแทนขั้นพื้นฐานและกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลล่าสุดสามารถยืนยันได้ว่าเงินเฟ้อที่แท้จริงในญี่ปุ่นได้ปรับตัวดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ แม้การร่วงลงของราคาน้ำมันได้ส่งผลกระทบชั่วคราวต่อเสถียรภาพของตัวเลขเงินเฟ้อก็ตาม แต่นโยบายกระตุ้นการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นประวัติการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังช่วยให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ด้วยการขจัดความเชื่อหรือพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.0 เป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล GDP ในช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq sa) อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนพบว่า GDP หดตัวที่ร้อยละ -1.4 โดยเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้าที่มีการเร่งการบริโภคก่อนการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของการบริโภคภายในประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 59.0 ของ GDP
3. ความไม่สงบทางการเมืองไม่กระทบราคาน้ำมัน
  • ในช่วงที่สัปดาห์ผ่านมา ภูมิภาคตะวันออกกลางต้องเผชิญกับความไม่งบในหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มไอซิส (ISIS) เข้ายึดเมืองรามาดีในประเทศอิรัก ซึ่งมีที่ตั้งห่างจากเมืองหลวงเพียง 129 กม. ด้านลิเบียก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายภายใน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียกำลังอยู่ในช่วงรับมือและปราบปรามกลุ่มกบฏในเยเมน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมัน ณ ช่วงเวลาเดียวกันกลับไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่เคยเป็นมา ในทางกลับกันราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้ามีการปรับลดลงในบางช่วงที่เกิดเหตุการณ์อีกด้วย โดยราคาในตลาดนิวยอร์คปรับลดลงร้อยละ 4 ในช่วง 2 วันแรกที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในอิรักก่อนจะกลับฟื้นตัวในช่วง 2 วันถัดมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ราคาน้ำมันที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญของโลกนั้นมีสาเหตุมาจากการที่อุปทานที่มาจากประเทศที่มีความขัดแย้งยังสามารถออกสู่ตลาดได้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ความไม่สงบจะกลับมากระทบราคาน้ำมันนั้นค่อยๆ สะสมตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากการประเมินของ U.S. Energy Information Administration. หรือ EIA พบว่า ความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมากระทบอุปทานน้ำมันดิบ ถึง 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวันมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 2000-2010 ถึง 5 เท่า ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตส่วนเกินที่เป็นกันชนของราคาน้ำมันในปัจจุบันก็กลับมีปริมาณที่ลดลง โดยทาง EIA ประเมินว่ากำลังการผลิตส่วนเกินในปัจจุบันอยู่ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สศค. ประเมินว่า ความเป็นไปได้ที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงจากความไม่สงบเช่นในอดีตมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของราคาจะทำให้ผู้ผลิต ในอเมริกาเหนือหลายรายกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งหลังราคาพ้นจุดขาดทุน อีกทั้งผู้ผลิตในภูมิภาคดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นอีกมากและบางส่วนมีปัจจัยการผลิตพร้อมอยู่แล้ว ทั้งนี้ สศค. ยังคงประมาณการราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 58 อยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ