รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน เม.ย. 58 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

2. ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน เม.ย.58 มีจำนวน 54,058 คัน ลดลงร้อยละ -26.2

3. ตลาดเหล็กของจีนยังซบเซา เหตุอุปสงค์ชะลอตัว

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน เม.ย. 58 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.58 อยู่ที่ระดับ 86.2 ลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสหกรรมที่ปรับลดลงต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งช่วงที่ผ่านมาหลายหน่วยงานก็ได้ออกแถลงข่าวปรับประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลง ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีฯ คือ ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ต่อเนื่องถึงรายได้ของเกษตรที่ลดลง (เดือน เม.ย. 58 หดตัว -18.8 %yoy) ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคโดยรวมลดลง ประกอบกับเดือนเม.ย. มีวันทำการน้อยกว่าเดือนอื่นๆเนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาว ทำให้ดัชนีฯ ในเดือนนี้ลดลง
2.ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน เม.ย.58 มีจำนวน 54,058 คัน ลดลงร้อยละ -26.2
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนเม.ย.58 มีจำนวน 54,058 คัน ลดลงร้อยละ -26.2 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 4 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 251,800 คัน ลดลงร้อยละ -15.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับตัวลดลงในเดือนเม.ย. 58 เนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปรัง และยางพาราเป็นสำคัญ ทำให้รายได้ที่แท้จริงที่เกษตรกรได้รับยังคงหดตัวติดต่อกัน และส่งต่อเนื่องให้ภาคเอกชนยังคงไม่มีกำลังบริโภค กอปรกับสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก สะท้อนจากการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เท่านั้น ซึ่งมีผลของปัจจัยฐานต่ำในไตรมาส 1 ปี 57 จากการเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.7 - 2.7 ณ เม.ย. 58)
3. ตลาดเหล็กของจีนยังซบเซา เหตุอุปสงค์ชะลอตัว
  • Mysteel ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กของจีนเปิดเผยว่า ตลาดเหล็กของจีนซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ขณะที่ราคาเหล็กปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยดัชนีราคาเหล็กในตลาดสปอตของจีน ปิดที่ระดับ 89.75 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงร้อยละ -1.47 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะการซบเซาของตลาดเหล็กนั้น สอดคล้องกับภาวะการซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากราคาบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อย่างไรก็ดี ราคาบ้านใหม่ในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสินเจิ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า บ่งบอกถึงแนวโน้มที่สถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์จะมีการฟื้นตัว กอปรกับรัฐบาลอาจมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากไม่เพียงแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมีอีกหลาย ๆภาคส่วนที่ยังคงชะลอตัว เช่นภาคการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้น (Flash HSBC/Markit) เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออก และนำเข้าก็ยังคงหดตัวร้อยละ -6.5 และร้อยละ -16.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ