รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 10, 2015 11:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2558

Summary:

1. ตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าเวียดนามเป็น 2 หมื่นล้านดอลล์

2. ยานยนต์ไทยยังไม่วิกฤติ

3. นักวิเคราะห์กังวลราคาน้ำมันกลับสู่ขาลง

1. ตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าเวียดนามเป็น 2 หมื่นล้านดอลล์
  • อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ผลจากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าหรือ JTC ไทย-เวียดนามครั้งที่ 2 ได้มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปีหรือภายในปี 63 ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศจึงให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามผ่านการใช้ "ฟอร์มดี" ซึ่งถือเป็นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าประเภทหนึ่งที่ใช้ในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลปี 57 พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามอยู่ที่ 11,820.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า 7,882.4 และ 3,937.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับและจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ในช่วงปี 53-57 พบว่ามูลค่าการค้ารวมของไทยกับเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยหากจะต้องการให้มูลค่าการค้ารวมของไทยกับเวียดนามในปี 63 มีมูลค่าตามเป้าหมายเท่ากับ 20,000 เหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 58-63 จะต้องมีการขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะเป็นไปได้เนื่องจากจะมีการเปิดAEC จะทำให้อัตราภาษีศุลกากรลดต่ำลงใกล้ศูนย์ และส่งผลให้มีการค้ามากขึ้น โดยพบว่าการค้าระหว่างไทยและเวียดนามสามารถเกินดุลการค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ยานยนต์ และเม็ดพลาสติกเป็นสินค้าส่งออกหลัก ด้วยเหตุนี้การเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศจึงน่าจะส่งผลดีต่อดุลการค้าของไทยในอนาคต
2. ยานยนต์ไทยยังไม่วิกฤติ
  • นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในขณะนี้ประสบกับภาวะ "ดีมานด์หาย ซัพพลายหด" อย่างไรก็ตามมองว่ายังไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะตัวเลขการส่งออกรถยนต์ยังดีอยู่ ขณะที่บางโรงงานมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าด้วยซ้ำ ซึ่งแนวโน้มของยานยนต์ไทยจะต้องไปในทิศทางที่โลกต้องการ กล่าวคือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งที่เป็นรถอิเล็กทริกคาร์ รถไฟฟ้า การพัฒนาแบตเตอรี่ และการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยให้มีการปรับตัวเพื่อจะป้อนระบบรางและรถไฟฟ้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งสัญญาณสดใสกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่น่าจะกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ดี อาทิ การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่จะทำให้กำลังซื้อในปีหน้าหันมาซื้อรถในปีนี้แทน รวมทั้งค่ายรถแต่ละค่ายที่เริ่มมีวิธีและเงื่อนไขที่สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้ เช่น โตโยต้าที่มีการโยกสายการผลิตรองรับการส่งออก เพื่อชดเชยยอดขายในประเทศ และล่าสุดมีการส่งออกรถปิกอัพรุ่นใหม่ "ไฮลักซ์ รีโว่" ล็อตแรก โดยหวังว่ารีโว่ จะช่วยผลักดันยอดขายทั้งต่างประเทศ ในประเทศ และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เพราะรถรุ่นนี้ถือว่าเป็นรถที่เกิดขึ้นในไทย ผลิตในไทย และยังใช้ชิ้นส่วนในไทยเกือบร้อยละ 97 อีกด้วย ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกยานยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.1
3. นักวิเคราะห์กังวลราคาน้ำมันกลับสู่ขาลง
  • นายบิล กรอส อดีตผู้บริหารกองทุนพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนายฟรานเชสโก้ บลานช์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยโภคภัณฑ์โลกจากธนาคาร Bank of America ออกมาให้ความเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่ขาลงอีกครั้ง เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนผู้บริโภคน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อันดับหนึ่งของโลก และการผลิตล้นเกินจากสหรัฐฯ ซาอุดิอาระเบีย และอิรัก โดยราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปิดต่ำกว่าระดับ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหลังจากที่สามารถขึ้นไปแตะเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ในช่วงเดือนมิถุนายน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ทิศทางราคาน้ำมันในช่วงเดือน ก.ค. 58 จนถึงสัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. 58 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวผิดกับสิ่งที่ตลาดและนักวิเคราะห์ได้เคยคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคา จากการผลิตที่คาดว่าจะลดลงประกอบกับการเข้าสู่ฤดูกาลที่ชาวสหรัฐฯ มักจะบริโภคน้ำมันในระดับสูงสุด การชะลอตัวมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวลงของจีนและการผลิตล้นเกินต่อเนื่องตามที่ นายบิล กรอส และนาย ฟรานเชสโก้ บลานช์ ได้ให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่าการปรับตัวของผู้ผลิต Shale oil ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางใดหลังจากสัญญาการป้องกันความเสี่ยงที่เคยทำไว้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะทยอยหมดลงอย่างชัดเจน หากผู้ผลิตไม่มีเงินสดสำรองมากพอและราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นไปได้ว่าผู้ผลิตบางรายจะไม่สามารถหาเงินทุนมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้อาจทำให้เริ่มมีการลดลงของจำนวนผู้ผลิตซึ่งสามารถนำไปสู่การลดลงของการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ได้ในท้ายที่สุด ซึ่งนั่นจะทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสกลับเข้าสู่ทิศทางการฟื้นตัวได้บ้าง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ