รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2016 13:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2559

Summary:

1. ครม.ยืดเวลาช่วยเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 58/59

2. ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียในเดือน พ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5

1. ครม.ยืดเวลาช่วยเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 58/59
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.59 มีมติอนุมัติขยายเวลาดำเนินโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 58/59 จากที่สิ้นสุดโครงการภายในวันที่ 30 เม.ย.59 เป็นสิ้นสุดโครงการภายในวันที่ 30 มิ.ย. 59 เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมสร้างรายได้จากปศุสัตว์และประมงในฤดูแล้งใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อมอบแก่เกษตรกรที่ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกและพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งผู้ผลิตจะต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบตามสัญญาจ้าง ประกอบกับการจัดซื้อจัดจ้างตามกิจกรรมดังกล่าวเป็นอุปสงค์เร่งด่วน จึงส่งผลให้ไม่สามารถผลิตอุปทานได้ทันที
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ 1. การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรและราคาโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และ 2. ปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ และดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วง 4 เดือนแรกปี 59 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 และร้อยละ -3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ซึ่งส่งผลต่อรายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ การที่ครม. มีมติขยายเวลาการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 58/59 นั้น จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้บ้าง จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และสถานการณ์ภัยแล้ง ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 59
2. ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียในเดือน พ.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7
  • สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซีย (Gaikindo) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียในเดือนพ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 12 จากสถิติปีก่อนหน้า อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์อยู่ที่ 88,528 คันในเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากปีก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดขายเดือนพ.ค.สูงกว่ายอดขายเดือนเม.ย.ที่ 84,600 คัน ซึ่งถือเป็นเดือนแรกที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปี สำหรับเป้าหมายในปีนี้ ทางสมาคมตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไว้ที่อัตราการขยายตัวร้อยละ 5 เทียบกับปี 2558 ที่สามารถทำยอดขายได้ 1.01 ล้านคัน ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์เป็นปัจจัยบ่งชี้การบริโภคภาคครัวเรือนรายการหนึ่งในอินโดนีเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือน เม.ย. ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ของภาคเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. ที่อยู่ในระดับสูงที่ระดับ 112.1 ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำยอดขายรถยนต์ได้เป็นไปตามเป้าที่ 1.01 ล้านคัน หากเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59) จับตา: ยอดขายรถยนต์เดือนกรกฎาคม และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
  • กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นประจำเดือนเมษายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลที่ร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับทบทวนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระดับพื้นฐานที่ร้อยละ 0.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 1 ปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือน เม.ย.59 หดตัวที่ร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าในเกือบทุกหมวดที่หดตัวลง นอกจากนี้ อุปสงค์ภายนอกประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลล่าสุด เดือน เม.ย. 59 มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -10.3 และ -23.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี หากขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.3 ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.8 (คาดการณ์ ณ เดือนเม.ย. 59) จับตา: การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ