รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 29, 2016 11:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2559

Summary:

1. ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.5

2. ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เชื่อมโยงคมนาคมขนส่งทุกด้าน

3. เกาหลีใต้หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้ เหลือร้อยละ 2.8

1. ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 2.5
  • ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวและการส่งออกยังคงลดลง แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังมีความมั่นคง การเงินและการคลังที่เข้มแข็ง ที่ทำให้ไทยสามารถรองรับความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงได้ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนโดยมีปัจจัยบวกมาจาก (1) การขยายตัวของการท่องเที่ยว โดยในช่วง 5 เดือนแรกในปี 59 รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว (ที่รวมทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) ขยายตัวที่ ร้อยละ 13.9 ต่อปี และ (2) การลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงิน และ ตลาดทุน เนื่องจากผลของการทำประชามติ Brexit ของสหราชอาณาจักร และการเติบโตอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้า โดยในช่วง 5 เดือนแรกในปี 59 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -1.9 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 3.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59) จับตา: การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/59
2. ครม.อนุมัติโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เชื่อมโยงคมนาคมขนส่งทุกด้าน
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา โดยจะเน้นมีการบูรณการเชื่อมโยงทั้งระบบ ทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน ได้แก่ ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง คือ สุวรรรภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทาง ลดเวลาในการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนโลจิสติกส์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคตะวันออกเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของไทยและมีสัดส่วนหรือขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของ GDP โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคตะวันออกจะเน้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 49.2 ของเศรษฐกิจภาคตะวันออก นอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของภาคตะวันออกจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานเศรษฐกิจของภาคตะวันออกในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของไทยโดยรวม ทั้งนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคตะวันออกล่าสุดเดือน พ.ค.59 พบว่า ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่สะท้อนได้จากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.5 ต่อปี อีกทั้ง รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคก็ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 52.4 ต่อปี สอดคล้องกับด้านอุปทานที่สะท้อนได้จากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ร้อยละ 73.1 และ 40.3 ต่อปี จับตา: เครื่องชี้เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือน มิ.ย.59
3. เกาหลีใต้หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้ เหลือร้อยละ 2.8
  • รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 59 ลงเหลือร้อยละ 2.8 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า GDP ปี 59 จะขยายตัวราวร้อยละ 2.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ในปี 59 ของรัฐบาลเกาหลีใต้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงต้นปี สะท้อนจากไตรมาสแรกปี 59 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ออกมาต่ำกว่าที่คาด โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 โดยสาเหตุหลักมาจากมูลค่าการส่งออกที่ถือเป็นรายได้หลักของเกาหลีใต้ที่ยังคงหดตัวอยู่ โดยในเดือน พ.ค. 59 มูลค่าการส่งออกสินค้าของเกาหลีใต้ยังคงหดตัวในต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.0 ต่อปี อย่างไรก็ดี รัฐบาลเกาหลีใต้จะพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาและผลกระทบจากการลงประชามติ Brexit ของอังกฤษ โดยการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ตลอดจนให้นำการลดหย่อนภาษีรถยนต์สำหรับผู้บริโภคกลับมาใช้อีกครั้ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เม.ย.59) จับตา: อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาส 2/59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ