บทสรุปผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2558

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 5, 2016 14:25 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

บทสรุปผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2558

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2558 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สินของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน(มกราคม - ธันวาคม 2558) จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาล จำนวนครัวเรือนตัวอย่างประมาณ 52,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่นำเสนอเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพเท่านั้น จึงไม่รวมการสะสมทุน เช่น ซื้อบ้าน/ที่ดิน และเงินออม ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญ ได้ดังนี้

1. รายได้ของครัวเรือน ปี 2558

จากผลการสำรวจ ในปี 2558 พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,915 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 73.0 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือนร้อยละ 44.5 กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจร้อยละ 18.9 และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรร้อยละ 9.6 และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน/รัฐร้อยละ 10.6 รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 นอกจากนั้นยังมีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินในรูปสวัสดิการ/สินค้า และบริการต่างๆ ที่ได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อร้อยละ 13.4 (รวมค่าประเมินค่าเช่าบ้าน/บ้านของตนเอง)

2. ค่าใช้จ่าย 1/ ของครัวเรือน ปี 2558

ครัวเรือนทั่วประเทศ ในปี 2558 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,157 บาท ค่าใช้จ่ายร้อยละ 33.7 เป็นค่าอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นค่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.7) รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยเครื่องแต่งบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 20.4 ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทางร้อยละ 18.3 ของใช้ส่วนบุคคล/เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้าร้อยละ 6.0 ใช้ในการสื่อสารร้อยละ 3.3 ใช้เพื่อการศึกษา ค่าเวชภัณฑ์/ค่ารักษาพยาบาล และกิจกรรมทางศาสนาคือร้อยละ 1.7 1.4 และ 1.2 ตามลำดับ สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบันเทิง/การจัดงานพิธีมีเพียงร้อยละ 1.1 ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย สูงถึงร้อยละ 12.9

3. หนี้สินของครัวเรือน ปี 2558

จากครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 21 ล้านครัวเรือน พบว่าเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินประมาณ 10.4 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 49.1 โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 156,770 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 75.0) ดังนี้ ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 41.3 ใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 32.4 และใช้ในการศึกษาร้อยละ 1.3 สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่นๆ (ร้อยละ 25.0) พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อใช้ทำการเกษตร (ร้อยละ 14.3) รองลงมาคือใช้ทำธุรกิจ (ร้อยละ 10.7)

4. หนี้สินในระบบ และหนี้สินนอกระบบ ปี 2558

4.1) ครัวเรือนที่มีหนี้สิน

จากครัวเรือนทั่วประเทศที่มีหนี้สิน พบว่าส่วนใหญ่ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบ โดยครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 91.4 และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบร้อยละ 3.7 สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียงร้อยละ 4.9 และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 46 เท่า (153,425 บาท และ 3,346 บาท ตามลำดับ) โดยลดลงจากปี 2556 ซึ่งหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบประมาณ 49 เท่า (159,816 บาท และ 3,271 บาท ตามลำดับ)

4.2) จำนวนหนี้สิน

จากผลการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่าจำนวนหนี้สินในระบบ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมคือร้อยละ 36.7 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 41.3 รองลงมาคือเพื่อใช้ในการซื้อบ้าน/ที่ดินร้อยละ 32.9 ใช้ทำการเกษตรร้อยละ 14.3 และใช้ทำธุรกิจร้อยละ 9.9 สำหรับหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น

สำหรับจำนวนหนี้สินนอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน คือร้อยละ 42.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 5.8 (ปี 2556 ร้อยละ 36.4) รองลงมาเป็นหนี้เพื่อใช้ทำธุรกิจ ใช้ทำการเกษตร และใช้ซื้อบ้าน/ที่ดิน คือร้อยละ 23.2 17.1 และ 13.2 ตามลำดับ ส่วนหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น

5. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย 1/ และหนี้สินของครัวเรือน ปี 2558

5.1) รายภาค

เมื่อพิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่ากรุงเทพ ฯ และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 41,002 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและ จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกันคือ 30,882 บาท และ 171,837 บาท ตามลำดับ แต่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ต่ำที่สุด คือร้อยละ 75.3 อาจเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการส่วนใหญ่มีรายได้มาจากค่าจ้างและเงินเดือน และการประกอบธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีผลกระทบมากนักกับราคาผลผลิตตกต่ำสำหรับภาคที่ประกอบการเกษตร จึงทำให้จังหวัดดังกล่าวสามารถเก็บออม และมีเงินชำระหนี้ได้มากกว่าครัวเรือนในภาคอื่นและพบว่าครัวเรือนในภาคใต้เป็นภาคที่มีสัดส่วน ของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึงร้อยละ 81.0 อาจเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำทำให้มีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออม หรือเงินเพื่อการชำระหนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น

5.2) ตามสถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน (ตามอาชีพ)

เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่าครัวเรือนลูกจ้างที่เป็นผู้จัดการ/นักวิชาการ/ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 56,633 บาท รองลงมา ได้แก่ครัวเรือนของผู้ประกอบธุรกิจของตนเองที่ไม่ใช่เกษตร เสมียน/พนักงาน/ผู้ให้บริการ และผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต ก่อสร้าง และเหมืองแร่ 34,438 25,661 และ 22,334 บาท ตามลำดับ และรายได้ต่ำสุดคือครัวเรือนประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์ฯ 13,410 บาท และเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่าครัวเรือนอาชีพใดมีรายได้สูง ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายและจำนวนเงินที่เป็นหนี้สูงเช่นเดียวกัน

6. การเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย 1/ และหนี้สินต่อรายได้ ปี 2549 - 2558

เมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2558 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ และพบว่ารายได้ และค่าใช้จ่ายฯ ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2558 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือรายได้เพิ่มจาก 17,787 บาท เป็น 26,915 บาท และค่าใช้จ่ายฯเพิ่มจาก 14,311 บาท เป็น 21,157 บาท ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลต่างของรายได้ และค่าใช้จ่าย ในปี 2558 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 5,758 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 1,986 บาทต่อคน(ขนาดของครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 2.9 คน) ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการชำระหนี้ เช่น หนี้เพื่อการซื้อบ้าน/ที่ดิน หนี้อุปโภคบริโภค และรายได้ส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ และไม่ได้ถูกใช้สอยออกไปก็มีเหลือไว้สำหรับการเก็บออม เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2549 หนี้สินต่อรายได้สูงสุดคือ 6.6 เท่า จากนั้นลดลงเรื่อย ๆ และมาต่ำสุดอีกครั้งช่วงปี 2554 และ 2558 ซึ่งเท่ากันคือ 5.8 เท่า

7. การเปรียบเทียบอัตราร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น ปี2549 - 2558

เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ และหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนในระหว่างปี 2549 ถึง 2558 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดลงตามลำดับ คือลดลงจากร้อยละ 64.4 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 49.1 ในปี 2558 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเพิ่มจาก 116,585 บาท ในปี 2549 เป็น 163,087 บาท ในปี 2556 จากนั้นในปี 2558 จำนวนเงินที่เป็นหนี้เริ่มปรับตัวลดลงอีก

8. การเปรียบเทียบการกระจายรายได้ของครัวเรือน ปี 2556 - 2558

ในการวิเคราะห์การกระจายรายได้ โดยได้จัดแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่าๆกัน และนำมาเรียงลำดับตามรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนจากน้อยไปมาก(กลุ่มที่ 1 มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ 5 มีรายได้สูงสุด) พบว่าในปี 2558 กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ร้อยละ 44.6 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 7.0 แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้มีแนวโน้มลดลง คือกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดลดลงร้อยละ 2.2 ขณะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดถึงปานกลาง (กลุ่มที่ 1 - 3) มีส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค (Gini oefficient) ด้านการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 5 กลุ่มมีค่าลดลง คือจาก 0.367 ในปี 2556 เป็น 0.337 ในปี 2558

สำหรับรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 8,180 บาท ในปี 2556 เป็น 9,212 บาท ในปี 2558 โดยเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 24,528 เป็น 26,161 บาท และครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,973 บาท เป็น 2,574 บาท

** 1/ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทสะสมทุน เช่น การซื้อบ้าน/ ที่ดิน และเงินออม เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ