ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 13, 2015 15:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

นาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น

ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการ

รถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก

ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ผลการดำเนินงาน

1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2558

          - ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว                       3.707 ล้านครอบครัว    61.273 ล้านไร่

2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 9 มกราคม 2558

3.576 ล้านครอบครัว 38.865 ล้านไร่

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.        0.144 ล้านครอบครัว     1.251 ล้านไร่
  • อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร                3.432 ล้านครอบครัว  37,613.047 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงประกอบกับมีบางพื้นที่กระทบแล้งทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,516 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,480 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 9.02

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,901 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,856 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.58

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 979 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,009 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 949 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,978 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.16 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 1,031 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 605 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,781 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,998 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.95 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 783 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,667 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,013 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,024 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และลดลง ในรูปเงินบาทตันละ 11 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 412 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,471 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,644 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.44 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 173 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6959 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เวียดนามได้สั่งปรับลดเพดานราคาส่งออก FOB (ราคาส่งออกขั้นต่ำ) ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% และข้าวขาว 15% เหลือตันละ 385 ตันละ 375 และตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 12,588 บาท ตันละ 12,261 บาท และตันละ 11,934 บาท ตามลำดับ) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการข้าวของฟิลิปปินส์ ปริมาณ 187,000 ตัน โดยองค์การอาหารแห่งเวียดนาม (Vietnam Food Authority: VFA) ระบุว่า ราคาส่งออกขั้นต่ำข้าวขาว 5% ลดลงจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 13,405 บาท) หรือลดลงร้อยละ 6 ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เวียดนามได้ปรับลดเพดานราคาส่งออกข้าวขาว 25% ไปครั้งหนึ่งแล้ว จากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 13,405 บาท) เหลือตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 12,424 บาท)

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority: NFA) อนุมัติให้ภาคเอกชนนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 187,000 ตัน ภายใต้ปริมาณการนำเข้าขั้นต่ำ (minimum access volume) และกำหนดจัดส่งข้าวภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

ทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับความต้องการข้าวของประเทศผู้นำเข้าอยู่ในเกณฑ์ซบเซา ปัจจุบัน ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,097 บาท) ลดลงจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,621 บาท) หรือลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 25% ตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 11,444 บาท) ลดลงจากตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 11,607 บาท) หรือลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

องค์การอาหารแห่งเวียดนาม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 เวียดนามส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวที่ส่งออกอย่างเป็นทางการ 6.5 ล้านตัน และข้าวที่ลักลอบส่งออกทางชายแดนไปยังประเทศจีน 1 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ข้าวเมียนมาร์ที่ลักลอบส่งออกทางชายแดนตอนเหนือของประเทศไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะทางชายแดนเมืองมูเซ (Muse) เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากทางการจีน

ลดระดับการเฝ้าระวัง โดยรองผู้อำนวยการศูนย์ขายส่งข้าวเปลือกเมืองมูเซ (Muse Paddy Wholesale Center) ระบุว่า เมียนมาร์ส่งออกข้าวสาร 4,500 ตัน และปลายข้าว 1,500 ตัน ไปยังจีนทุกวัน ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557/58 เมียนมาร์ส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนทั้งสิ้น 800,000 ตัน

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 15 ธันวาคม 2557 เมียนมาร์ส่งออกข้าวรวม 915,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 522,857 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับการส่งออกข้าวผ่านชายแดนทางตอนเหนือของประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังจากที่ทางการจีนสั่งห้ามนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมาร์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลเมียนมาร์ได้พยายามเจราจากับทางการของจีนเพื่อจัดทำข้อตกลงทางการค้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN summit) ทางการจีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำเข้าข้าวจำนวน 1 ล้านตันจากเมียนมาร์และอนุญาตการนำเข้าผ่านการค้าชายแดน ทั้งนี้ สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทของจีน 3 แห่ง มีกำหนดที่จะซื้อข้าวแห่งละ 280,000 ตัน

ประธานสมาคมเกษตรกรเมียนมาร์ (Myanmar Farmers Association) กล่าวว่า บริษัทตรวจสอบและรับรองของทางการจีน (China Certification and Inspection Company) มีกำหนดที่จะจัดตั้งสำนักงาน

ในกรุงย่างกุ้งในอีกไม่ช้า เพื่อติดตามคุณภาพข้าวของเมียนมาร์ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2557/58 ประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งออกข้าวมากกว่า 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2556/57 และคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 เมียนมาร์จะผลิตข้าว 18.98 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12.15 ล้านตันข้าวสาร) และส่งออกข้าวประมาณ 1.4 ล้านตันข้าวสาร

ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในปี 2557 กัมพูชาส่งออกข้าว 387,100 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 378,856 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยร้อยละ 62 ของข้าวที่ส่งออก ส่งออกไปยังทวีปยุโรป

รองผู้อำนวยการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation) ระบุว่า การขยายตัวของการส่งออกข้าวในปี 2557 น้อยกว่าการขยายตัวในปี 2556 เนื่องจากไทยมีการระบายข้าวจากสต็อก และต้องแข่งขันกับ

เมียนมาร์ในเรื่องของการที่กำหนดให้สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LCDs) ในอัตราภาษีร้อยละ 0

ถึงแม้ว่าผลกำไรจากการส่งออกข้าวของกัมพูชาในปี 2557 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 รองผู้อำนวยการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กัมพูชายังคงมีความมั่นใจว่าปี 2558 จะเป็นปีที่ดีสำหรับการส่งออกข้าวของกัมพูชา เนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กัมพูชาได้ทำสัญญาส่งออกข้าวไปยังจีนในปี 2558 ปริมาณ 100,000 ตัน และตลาดยุโรปยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าว 1.2 ล้านตัน (ซึ่งรวมทั้งการส่งออกอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2556

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 ม.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ