ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2016 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการที่หลายประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและเกรงว่าผลผลิตจะมีไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศของตน จึงสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น 1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,758 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,756 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,822 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,782 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 794 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,834 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 798 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,713 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 121 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,963 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,115 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.65 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 152 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,461 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,405 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 56 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,146 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,092 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 54 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 392 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,742 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 129 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0552 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

นายกสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่า ในช่วงนี้เวียดนามกำลังเผชิญปัญหาในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และไทย เพราะปัจจุบันราคาข้าวของเวียดนามอยู่ในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (หรือ701 บาทต่อตัน) โดยข้าวขาว 5% ราคา 380-390 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (หรือ 13,321-13,672 บาทต่อตัน) ขณะที่ข้าวขาว 5% ของไทย อินเดีย และปากีสถาน ราคา 365-375, 365-375 และ 335-345 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (หรือ 12,795-13,146 12,795-13,146 และ 11,743-12,094 บาทต่อตัน) ตามลำดับ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามไม่สามารถขายข้าวหรือทำสัญญาซื้อขายใหม่ๆ ได้

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงขยับสูงขึ้น เนื่องจากตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการคาดการณ์ ผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งและภาวะน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีรายงานว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 1 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทางภาคใต้ของประเทศ ทำให้ผู้ค้าข้าวในประเทศและผู้ส่งออกต่างเร่งเก็บสต็อกข้าวเพราะเกรงว่าอาจเกิดปัญหาขาดแคลนผลผลิตข้าวในประเทศ โดยขณะนี้ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% ตันละ 380-385 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 13,321-13,496 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากตันละ 375-385 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (หรือ 13,146-13,496 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2558 ราคาข้าวขาว 5% ขึ้นสูงสุดที่ 385 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-15 มีนาคม 2559 มีจำนวน 253,795 ตัน มูลค่า 96.317 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 และร้อยละ 111 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 115,369 ตัน มูลค่า 45.648 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม -15 มีนาคม 2559 มีจำนวน 1.11 ล้านตัน มูลค่า 444.151 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 107 และร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 536,571 ตัน มูลค่า 236.188 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปี 2559 กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) คาดว่า ในไตรมาสแรกจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 1.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 692 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวไปยังประเทศ อินโดนีเซียประมาณ 330,300 ตัน มูลค่ากว่า 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 213.1 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 196.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา) รองลงมาคือ จีนประมาณ 160,690 ตัน มูลค่า 71.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา)

คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ (Committee for Economic Affairs; CEA) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐสภาแห่งเวียดนาม (Vietnam National Assembly) เห็นชอบข้อเสนอของรัฐบาลในการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวในประเทศประมาณ 1.69 ล้านไร่ ภายในปี 2563 นอกจากนี้ รัฐบาลมีข้อเสนอให้สงวนพื้นที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ สำหรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอื่นนอกจากข้าว แต่ยังคงสามารถปลูกข้าวได้หากมีความจำเป็น

ประธานกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า การผลิตข้าวในประเทศมีปริมาณมาก ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวเวียดนามที่สำคัญประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายพึ่งพิงการผลิตข้าวภายในประเทศและลดการนำเข้าข้าว นอกจากนี้ประธานฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการได้พิจารณาผลกระทบของภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและอุทกภัย ภาวะดินเค็มและการเสื่อมโทรมของดินที่มีต่อปริมาณผลผลิตข้าว โดยคณะกรรมาธิการฯ ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในพื้นที่ปลูกข้าวที่ยังคงรักษาไว้ โดยการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ แม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวจะลดลงก็ตาม

สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1.69 ล้านไร่ ที่กำหนดให้งดการปลูกข้าวนั้น รัฐบาลได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน หรือพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองที่อยู่อาศัย

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Authority; PSA) พยากรณ์ว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 4.07 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 4.37 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้เมื่อเดือนก่อนที่ 4.15 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2 เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่ยังคงมีผลกระทบต่อการผลิตข้าว ก่อนหน้านี้สำนักงานสถิติพยากรณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะมีผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ประมาณ 8.20 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 8.32 ล้านตันในปี 2558 ทั้งนี้ ในปี 2558 ฟิลิปปินส์มีผลผลิต ข้าวเปลือกประมาณ 18.15 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับจำนวน 18.97 ล้านตันในปี 2557 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2558/59 (ก.ค.58-มิ.ย.59) คาดว่า ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวประมาณ 2 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากจำนวน 1.8 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 988,172 ตัน โดยนำเข้าจากเวียดนามและไทยคิดร้อยละ 53 และร้อยละ 45 ตามลำดับ ขณะที่รายงานขององค์การอาหารแห่งชาติ (the National Food Authority; NFA) ระบุว่า ในปี 2558 มีการนำเข้าข้าวประมาณ 1.90 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้าผ่านช่องทางการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (government-to-government deals) ประมาณ 1.235 ล้านตัน และนำเข้าโดยภาคเอกชนภายใต้ข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก (the Minimum Access Volume; MAV) ประมาณ 640,000 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าอย่างไม่เป็นทางการ (unofficial channels)

สำหรับการนำเข้าในปีการตลาด 2559/60 (ก.ค.59-มิ.ย.60) คาดว่าฟิลิปปินส์จะนำเข้าประมาณ 1.5 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าผลผลิตในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและปริมาณสต็อกข้าวคงเหลือเพิ่มมากขึ้น

ด้านการผลิต คาดว่าในปีการตลาด 2558/59 (ก.ค.58-มิ.ย.59) จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 18.025 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับจำนวน 18.913 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ส่วนในปีการตลาด 2559/60 (ก.ค.59- มิ.ย.60) คาดว่าฟิลิปปินส์จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 19 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เผชิญกับภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่

องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Administration - NFA) กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ได้เลื่อนแผนการนำเข้าข้าวปริมาณเพิ่มเติมสำหรับปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้ยังมีปริมาณข้าวเพียงพอ

นาย Angel G. Imperial หัวหน้าฝ่าย Public Affairs กล่าวว่า สภาความมั่นคงทางอาหารและสภาองค์การอาหารแห่งชาติตัดสินใจว่าจะยังไม่นำเข้าข้าวปริมาณ 500,000 ตัน อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมที่จะถึงนี้อีกครั้ง เพื่อหารือว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 หรือไม่

ซึ่งการนำเข้าข้าวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 500,000 ตัน (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณการนำเข้าข้าวเมื่อช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว จำนวน 750,000 ตัน) สำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวในไตรมาสแรกของปี คาดว่าอาจจะลดลงมากกว่าร้อยละ 5 จากปริมาณที่เคย คาดการณ์ไว้ เนื่องจากภาวะแห้งแล้งซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้มีโครงการเพื่อจัดการปัญหาที่เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ โดยส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว คือ การดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งเพาะปลูกที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนบรรเทาผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ จำนวน 19 พันล้านเปโซ เพื่อใช้จ่ายตามโครงการ Food-for Work Program ในพื้นที่ที่ประสบภาวะแห้งแล้ง

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา รายงานว่า กรมศุลกากรไนจีเรีย (The Nigeria Customs Service; NCS) ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบก ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป โดยอ้างว่า การอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบก ไม่ช่วยแก้ปัญหาการลักลอบการนำเข้าข้าว รวมทั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กรมศุลกากรเก็บภาษีนำเข้าข้าวผ่านด่านชายแดนทางบก ได้เพียง 1,690 ล้านไนร่า (ประมาณ 300 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งนี้ ศุลกากรไนจีเรียได้เคยห้ามนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนหลายปีมาแล้ว และได้ออกประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบกได้เมื่อเดือนตุลาคม 2558 โดยกรมศุลกากร ระบุว่า ในระยะแรกของการอนุญาตนำเข้าข้าวนั้น เป็นไปด้วยความราบรื่น อย่างไรก็ดี รายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ระบุว่า รายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมการนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดนทางบก มีจำนวนไม่ตรงกับปริมาณการนำเข้าข้าว เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าข้าวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 17 มีนาคม 2559 การนำเข้าข้าวผ่านแนวชายแดนทางบกมีปริมาณ 24,992 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กรมศุลกากรมีรายได้จากการนำเข้าเพียง 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า มาตรการห้ามนำเข้าข้าวมีผลบังคับใช้ทันที (22 มีนาคม 2559) อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าที่ได้ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวไปแล้วนั้น จะได้รับการผ่อนปรนโดยให้ดำเนินการส่งมอบข้าวให้เสร็จภายในวันที่ 25 มีนาคม 2559

จากการติดตามสถานการณ์ข้าวในประเทศไนจีเรียของสำนักงานฯ พบว่า ยังคงมีการลักลอบนำเข้าข้าวตามแนวชายแดน แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้นำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางบกอย่างถูกกฎหมายในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลไนจีเรียไม่พิจารณาประกาศรายชื่อผู้นำเข้าข้าวพร้อมโควต้านำเข้าสำหรับการเสียภาษีร้อยละ 30 ทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีร้อยละ 70 ทั้งที่ท่าเรือและด่านชายแดน ผู้นำเข้าข้าวเกือบทั้งหมดจึงหาวิธีดำเนินการเพื่อให้การนำเข้าข้าวไปยังประเทศไนจีเรียมีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งคือใช้วิธีการนำเข้าผ่านประเทศเบนินและแคเมอรูน ซึ่งภาษีนำเข้าต่ำกว่า และหาวิธีนำเข้ามายังประเทศไนจีเรียผ่านแนวชายแดน การออกประกาศห้ามนำเข้าดังกล่าว เป็นแรงกดดันจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทไนจีเรีย สมาคม ผู้ประกอบการโรงสีข้าวไนจีเรีย และสมาคมชาวนาไนจีเรีย ซึ่งต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องผู้ปลูกข้าวในประเทศ

การห้ามนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนดังกล่าว หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรไนจีเรียดำเนินการเข้มงวดจริง อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกข้าวไทยไปยังไนจีเรีย แคเมอรูน และเบนินได้ เพราะผู้นำเข้าต้องกลับมานำเข้าผ่านท่าเรือเมืองลากอส ซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม จากการประสานกับผู้นำเข้ารายใหญ่ 3 ราย ยังคงยืนยันว่าจะนำเข้าข้าวจากประเทศไทยไปยังไนจีเรียเช่นเดิม แต่อาจชะลอปริมาณการนำเข้าลงบ้าง เนื่องจากข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และไนจีเรียยังไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการ

ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯ และจีนได้บรรลุตกลงในเรื่องโปรโตคอลสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Protocal) ซึ่งจีนจะอนุญาตให้นำเข้าข้าวสหรัฐฯ ไปจำหน่ายในจีน หลังจากที่สหรัฐฯ ใช้ความพยายามกว่า 15 ปี โดยจีนกำหนดข้อผูกพันให้ผู้ส่งออกสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติคือ (1) วางกับดักสำหรับตัวด้วงอิฐ และเก็บข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่จีน และ (2) ฉลากสินค้าต้องระบุสายพันธุ์ข้าวบนแพคเกจ ทั้งนี้ คาดว่าข้าวล็อตแรกที่จะส่งไปจีนจะออกเดินทางจากสหรัฐฯ ในปลายฤดูใบไม้ผลิหรือต้นฤดูร้อน ปี 2559 นี้หรือมีปริมาณส่งออกข้าวไปจีนในขั้นต้นประมาณ 50,000 ตัน และคาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000-250,000 ตันต่อปี ในปีต่อๆ ไป หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านสมาคมข้าวสหรัฐฯ แจ้งว่า ข้าวที่จะส่งออกไปจีนส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดีและเป็นข้าวเมล็ดยาว และเป็นข้าวที่บรรจุเพื่อตลาดค้าปลีก (Package Rice) เท่านั้น เช่น ใส่ถุง ใส่ขวดพลาสติก หรือใส่กล่อง เพราะจีนไม่อนุญาตให้นำเข้าข้าวแบบการจัดส่งจำนวนมาก (Bulk Shipments) สมาคมฯ ยังได้รายงานผลการสำรวจความต้องการข้าวสหรัฐฯ ในประเทศจีน โดยระบุว่า ผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะกลุ่ม New Generation มีความต้องการข้าวสหรัฐฯ สูง เนื่องจากจัดว่าเป็นข้าว Premium Grade และยินดีซื้อในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป

แหล่งปลูกข้าวเม็ดยาวของสหรัฐฯ คือ อาร์คันซอส์ หลุยส์เซียน่า มิสซิสซิปปี้ เท็กซัส และมิสซูรี่ โดยเฉพาะรัฐอาร์คันซอส์เป็นผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของสหรัฐฯ ประมาณ 40 ล้านตันต่อปีหรือกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตรวม ซึ่งคาดว่าจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงนี้

ในฤดูใบไม้ผลิตปีนี้ Netafim USA บริษัทแคลิฟอร์เนียผู้ผลิตระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร บริษัท Lundberg Family Farms ผู้ปลูกข้าวรายใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก และศาสตราจารย์Eilon Adar นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ben-Gurion University of the Negev อดีตผู้อำนวยการ the Zuckerberg Institute at BGU’s Jacob Blaustein Institutes for Desert Research และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำระดับแนวหน้าของอิสราเอล จะร่วมมือกันทดลองการปลูกข้าวโดยใช้น้ำน้อยที่สุดในพื้นที่นาข้าวทดลอง จำนวน 50 – 100 เอเคอร์ของบริษัท Conaway PreservationGroup เจ้าของ Conaway Ranch บนพื้นที่ 17,000 เอเคอร์ (42,500 ไร่) ตั้งอยู่ระหว่างเมือง Davis และเมือง Woodland ในเขต Yolo County รัฐแคลิฟอร์เนีย

การปลูกข้าวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีมูลค่าอุตสาหกรรม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แคลิฟอร์เนียส่งออกข้าวไปขายกว่า 100 ประเทศ ความแห้งแล้งต่อเนื่องหลายปีในรัฐแคลิฟอร์เนียส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ปลูกข้าวในเขต Sacramento Valley พื้นที่ปลูกข้าวของรัฐฯ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า วิธีการปลูกข้าวปกติจะใช้น้ำประมาณ 5.1 ฟุตต่อฤดูการปลูกข้าวหนึ่งฤดู หรือประมาณ 24 แกลลอนต่อข้าวที่รับประทานหนึ่งมื้อ ทำให้ข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำในการผลิตมากที่สุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ปกติแล้วพื้นที่ปลูกข้าวของรัฐแคลิฟอร์เนียจะอยู่ระหว่าง 500,000 ถึง 550,000 เอเคอร์ จะใช้น้ำประมาณ 2 ถึง 3 ล้านเอเคอร์-ฟุต (หนึ่งเอเคอร์-ฟุต เท่ากับ 43,560 ลูกบาศก์ฟุต – นครลอสแอนเจลิส) การขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตข้าวของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2558 ต่ำกว่าปกติร้อยละ 30

การปลูกข้าวโดยการใช้ระบบน้ำหยดในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ระบบน้ำหยดที่นำมาทดลองใช้จะเป็นการใช้ท่อน้ำจำนวนมากส่งน้ำโดยตรงไปยังรากของต้นข้าว วิธีการนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ต้องใช้ประหยัดการใช้ปุ๋ย ควบคุมวัชพืชได้ดียิ่งขึ้น และให้ผลผลิตมากขึ้น แต่ใช้น้ำน้อยลง ถ้าวิธีการนี้ประสบความสำเร็จจะช่วยประหยัดน้ำของรัฐแคลิฟอร์เนียได้หลายแสนเอเคอร์-ฟุต และจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการปลูกข้าวทั่วสหรัฐฯและทั่วโลก

ที่มา Thai Trade Center - Chicago

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 มี.ค. - 3 เม.ย. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ