รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 12, 2013 15:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนตุลาคม 2556
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2556 ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 0.9 และลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรม ที่สำคัญ คือ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนตุลาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.5 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 63.6 ในเดือนกันยายน 2556
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนพฤศจิกายน 2556

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ ผ้าผืน
  • สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นอาจจะชะลอตัว ตามหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางที่เป็นบวกในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
  • ภาพรวมการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว แรงงานในภาคก่อสร้างซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกับแรงงานในภาคเกษตรจะทยอยกันกลับสู่ภูมิลำเนาของตน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างต้องชะลอตัวลง
  • สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตมีนโยบายสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.ย. 56 = 172.8

ต.ค. 56 = 171.3

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ยานยนต์
  • เสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.ย. 56 = 63.6

ต.ค. 56 = 63.5

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลัง การผลิตลดลงเล็กน้อย ได้แก่

  • ยานยนต์
  • โทรทัศน์สี
  • Hard Disk Drive

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม 2556 มีค่า 171.3 ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 (172.8) ร้อยละ 0.9 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนตุลาคม 2555 (178.5) ร้อยละ 4.0

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2556 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนตุลาคม 2556 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.5 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2556 (ร้อยละ 63.6) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนตุลาคม 2555 (ร้อยละ 67.8)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2556 ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง โทรทัศน์สี อาหารสัตว์สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2556

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2556 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 454 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 408 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 11.27 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 50,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 29,918 ล้านบาท ร้อยละ 68.1 และมีการจ้างงานจำนวน 16,283 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,721 คน ร้อยละ 86.71

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 385 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 17.92 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการลงทุน 16,997 ล้านบาท ร้อยละ 195.89 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,766 คน ร้อยละ 109.67

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ พื้น เสา และท่อคอนกรีต จำนวน 38 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ขุด ตัก ทรายและดินที่มีไว้เพื่อการจำหน่ายสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 33 โรงงาน -อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิต ส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 14,349.30 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตและประกอบตัวถังรถยนต์ จำนวนเงินทุน 11,845 ล้านบาท -อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมผลิต และประกอบตัวถังรถยนต์ จำนวนคนงาน 2,696 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ทุกชนิด จำนวนคนงาน 2,691 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2556 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 99 ราย มากกว่าเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.68 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 2,283.61 ล้านบาท มากกว่าเดือนกันยายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 672.04 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 2,775 คน มากกว่าเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,949 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 97 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 2.06 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,280.32 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนตุลาคม 2555 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,017 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมขุด ตัก ทรายและดินที่มีไว้เพื่อการจำหน่ายสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 9 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำวงกบ ขอบประตู ขอบหน้าต่าง บานประตู บานหน้าต่าง และอุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป ทั้งสองอุตสาหกรรมจำนวน 8 โรงงานเท่ากัน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมทำกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษใช้ในการก่อสร้าง แผ่นกระดาษไฟเบอร์ เงินทุน 641.5 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำส่วนประกอบ หรืออุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร จำนวน 390 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2556 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องประดับจากพลาสติก จำนวนคนงาน 586 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษใช้ในการก่อสร้าง แผ่นกระดาษไฟเบอร์ จำนวนคนงาน 484 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(สกท.) ในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 1,561 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,700 โครงการ ร้อยละ 8.18 และมีเงินลงทุน 757,100 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 786,100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.69

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2556
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               565                   240,700
          2.โครงการต่างชาติ 100%              588                   170,800
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        408                   345,600
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2556 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 332,900 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 210,500 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามฤดูกาลการสั่งสินค้ารองรับเทศกาล ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.3 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.8 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 18.0 33.0 และ 46.2 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับเดือนก่อนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 9.1 และ 8.1 ตามลำดับ เนื่องจากเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับเทศกาล กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 5.0 และ 1.0 ตามลำดับ เนื่องจากมีสต็อกอยู่ในปริมาณสูง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 17.8 ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 เนื่องจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลงจากการที่บริษัท สหฟาร์ม ได้หยุดโรงงานแปรรูปไก่ และชะลอการเลี้ยงไก่ เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง 2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ

เดือนตุลาคม 2556 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.7 หลังปัญหาน้ำท่วมได้คลี่คลาย

2) ตลาดต่างประเทศ

ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 และ 0.6 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นในหลายสินค้า เช่น ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยจากระดับราคาที่ลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลสั่งสินค้ารองรับเทศกาล ประกอบกับข่าวการรักษาระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะสั้น ส่งผลทางจิตวิทยาด้านบวกไปยังเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของคำสั่งซื้อปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย ส่วนภาคการส่งออก จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางที่เป็นบวกในช่วงเทศกาล สำคัญปลายปี"

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ เครื่องนอนและผ้าขนหนู และสิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด) ร้อยละ 0.5 1.4 และ 0.7 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เดียวกัน ร้อยละ 0.6 13.2 และ 3.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากภายในประเทศ ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 7.1 และ 4.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อที่ลดลงตามฤดูกาลจากประเทศญี่ปุ่น

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การจำหน่ายทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 9.0 และ 11.9 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ ลดลง ร้อยละ 20.0 และ 4.4 ตามลำดับ จากค่าครองชีพและหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าแฟชั่นชะลอตัวลง

มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.8 , 7.7, 10.7 และ 1.8 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4.4 , 13.7, 4.8 และ 0.9 ตามลำดับ โดยกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.1 และ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และหากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.3 และ 0.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่าจะขยายตัวตามความต้องการใช้ภายในประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ ผ้าผืน สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นอาจจะชะลอตัว ตามหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางที่เป็นบวกในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้ประกาศทบทวนการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากสาธารณรัฐเกาหลี จากเดิมในอัตรา ร้อยละ 0- 13.96 เป็น ร้อยละ 13.58- 58.85 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้าจาก บ.POSCO ถูกเรียกเก็บในอัตรา ร้อยละ 13.58 ในขณะที่ บ.Hyundai Steel ถูกเรียกเก็บในอัตรา ร้อยละ 13.96 สำหรับบริษัทอื่นๆ ถูกเรียกเก็บในอัตรา ร้อยละ 58.85

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนตุลาคม 2556 ชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 130.70 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 5.92 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตลดลง ร้อยละ 6.53 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 15.70 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนหน้ากว้างมาตัดแบ่งตามแนวยาว (Slit) จากประเทศอินเดียและรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติการใช้เหมือนกัน รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 12.92 แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.67 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.46 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 3.19 โดยเหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 19.65 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 18.21 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 2.51 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.84 และเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 0.84

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงตุลาคม 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 116.74 เป็น 111.86 ลดลง ร้อยละ 4.18 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.82 เป็น 110.76 ลดลง ร้อยละ 1.83 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 116.82 เป็น 115.51 ลดลง ร้อยละ 1.12 เหล็กเส้น ลดลงจาก 120.21 เป็น 119.14 ลดลง ร้อยละ 0.89 แต่เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 116.70 เป็น 118.11 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.21

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตทั้งเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาวจะลดลง เนื่องจากใกล้ช่วงสิ้นปี ผู้ผลิตและผู้ค้าจะสต๊อกสินค้าไว้เท่าที่จำเป็น ทำให้คำสั่งซื้อจากผู้ซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ผลิตผลิตลดลงด้วย

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาตลาดในประเทศมีฐานที่สูง อันเกิดจากนโยบายรถยนต์คันแรก ประกอบกับผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตรถยนต์รุ่นเดิม เพื่อเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 185,117 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 252,165 คัน ร้อยละ 26.59 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 4.94 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 88,633 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 134,159 คัน ร้อยละ 33.93 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์ PPV รวมกับ SUV และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2555 มีฐานที่สูง และผู้บริโภครอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 6.65 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์ PPV รวมกับ SUV และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 96,844 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 98,284 คัน ร้อยละ 1.47 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา และยุโรป และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 18.10 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ตลอดจนความต่อเนื่องของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และงาน Motor Expo ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556-10 ธันวาคม 2556 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 52 และส่งออกร้อยละ 48

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2556 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนตุลาคม ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 163,385 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการผลิต 202,118 คัน ร้อยละ 19.16 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 4.82 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 148,900 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการจำหน่าย 167,011 คัน ร้อยละ 10.84 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 1.85 โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 26,469 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งมีการส่งออก 26,183 คัน ร้อยละ 1.09 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2556 ร้อยละ 9.07 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2556 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจากการจัดงาน Motor Expo ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556-10 ธันวาคม 2556 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 87 และส่งออกร้อยละ 13

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อย แต่ในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงชะลอการส่งออกลงเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 3.70 และ 1.70 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 1.59 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 0.87

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้โดยปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยตามฤดูกาล ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองของไทยไม่ค่อยสงบ ส่งผลให้การก่อสร้างต่างๆ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ราคาปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งในโครงการก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม โดยขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายได้ปรับขึ้นราคาขายโครงการที่พัฒนาขึ้นใหม่บ้างแล้ว

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนตุลาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 17.74 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 34.38

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปี ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว แรงงานในภาคก่อสร้างซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มเดียวกับแรงงานในภาคเกษตรจะทยอยกันกลับสู่ภูมิลำเนาของตน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างต้องชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม มาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตมีนโยบายสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2556 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น และตลาดหลักบางตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ต.ค. 2556

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                1,564.0                  4.7            2.8
          วงจรรวมและไมโครแอส แซมบลี                      544.3                -30.4            0.5
          เครื่องปรับอากาศ                                 335.7                  1.5           15.7
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ    339.2                 -5.2          -13.2
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์                4,632.2                 -3.3            1.4
          ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.8 ลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 122.5 ลดลงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและตลาดส่งออกชะลอตัว สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 342.5 ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิต HDD มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม 2556 มีมูลค่า 4,632.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,952.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.6 ซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวลดลง คือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นปรับตัวลดลง ส่วนอาเซียน สหภาพยุโรป จีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 335.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 339.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,679.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เนื่องมาจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปจีนลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งออกไปตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ความต้องการชะลอตัวลงมาก

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน 2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ