รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 21, 2014 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกุมภาพันธ์ 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ลดลงจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 2.4 และลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 59.2 ลดลงจากร้อยละ 62.1 ในเดือนมกราคม 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมีนาคม 2557

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย เหมาะกับอากาศช่วงหน้าร้อนและเทศกาลหยุดพักผ่อนช่วงสงกรานต์ จะส่งผลให้เกิดความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในส่วนการส่งออกคาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 0.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ม.ค. 57 = 170.5

ก.พ. 57 = 166.5

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ม.ค. 57 = 62.1

ก.พ. 57 = 59.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีค่า 166.5 ลดลงจากเดือนมกราคม 2557(170.5) ร้อยละ 2.4 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกุมภาพันธ์ 2556 (174.2) ร้อยละ 4.4

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2557 ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เม็ดพลาสติก น้ำตาล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 59.2 ลดลงจากเดือนมกราคม 2557 (ร้อยละ 62.2) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนกุมภาพันธ์ 2556 (ร้อยละ 63.4)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมกราคม 2557 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เม็ดพลาสติก Hard Disk Drive เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งอาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 313 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 314 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 0.32 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 27,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 10,178 ล้านบาท ร้อยละ 166.83 มีการจ้างงานจำนวน 6,950 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,922 คน ร้อยละ 0.4

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 345 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 9.28 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการลงทุน 18,217 ล้านบาท ร้อยละ 49.08 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,869 คน ร้อยละ 1.18

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คืออุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 24 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 20 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 12,992 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำนวนเงินทุน 3,161 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จำนวนคนงาน 710 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิด จำนวนคนงาน 519 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 29 ราย น้อยกว่าเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 85 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.88 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 185.49 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนมกราคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,385 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานจำนวน 628 คน น้อยกว่าเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,498 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 41 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 29.27 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 846.79 ล้านบาท มีการเลิกจ้างน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 912 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คือ อุตสาหกรรมซ่อม และพ่นสีรถยนต์ จำนวน 6 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คืออุตสาหกรรมซ่อม และพ่นสีรถยนต์ เงินทุน 64.34 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมหนังสัตว์ ขนสัตว์ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หนังเทียม จำนวน 24 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2557คือ อุตสาหกรรมหนังสัตว์ ขนสัตว์ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ หนังเทียม จำนวนคนงาน 250 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการหมัก คาร์บอไนซ์ สาง หวี รีด ปั่น เอม หรือย้อมสีเส้นใย จำนวน

คนงาน 99 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 188 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 353 โครงการ ร้อยละ 46.75 และมีเงินลงทุน 63,100 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 151,300 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 58.3

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557
การร่วมทุน                        จำนวน(โครงการ)    มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
1.โครงการคนไทย 100%                  64                15,300
2.โครงการต่างชาติ 100%                 80                18,100
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ           44                29,800
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 คือ หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 22,500 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 17,400 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงทำให้ประชาชนลดการจับจ่าย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อน ร้อยละ 6.7และ 7.4 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 12.7 42.2 และ 30.9 ตามลำดับ

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 24.4 ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 82.4 จากการปรับเพิ่มการผลิตหลังจากชะลอการผลิตในเดือนก่อน ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.4 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง จากโรงงานชะลอการแปรรูปตามการเลี้ยงไก่ที่ปรับลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 18.1 และ 18.0 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคลดลง สืบเนื่องจากเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำ ตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.8 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับตัวลดลง แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนมูลค่าการ ส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับข่าวการปรับลดระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจส่งผลทางจิตวิทยาด้านลบไปยังเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของ คำสั่งซื้อปรับชะลอตัว แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลงและประชาชนลดการจับจ่าย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น”

1. การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ 0.3 และ 2.6ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าผืน และผ้าลูกไม้และยางยืดขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.6 และ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และร้อยละ 4.2 และ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสิ่งทอจากไทย
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนการผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.2 และ 10.2 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น และอาเซียน แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักกลับลดลงร้อยละ 7.8 สวนทางกับการผลิตเสื้อผ้าทอที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.1 ซึ่งเป็นผลจากตลาดสหรัฐอเมริกา เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง ในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าขนหนูและเครื่องนอน แต่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผ้าผืน สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเสื้อผ้าถักลดลงตามฤดูกาล แต่เสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายลดลง ทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง
  • การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 9.8 เป็นการลดลงจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ 9.5 ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.5 เป็นผลจากมูลค่าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มยังขยายตัวได้ ร้อยละ 2.9 จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11.97.4 และ 3.8 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย เหมาะกับอากาศช่วงหน้าร้อนและเทศกาลหยุดพักผ่อนช่วงสงกรานต์ จะส่งผลให้เกิดความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในส่วนการส่งออกคาดว่า จะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ได้มีคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557ว่ามีการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และไต้หวัน และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญแก่อุตสาหกรรมภายใน จึงให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราร้อยละ 4.22-20.11 ของราคา ซี ไอ เอฟ และเพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมส่งออก ให้เรียกเก็บอากรร้อยละ 0 สำหรับการนำเข้ามาใช้ใน 3 กรณี คือ 1)เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า 2) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เคลือบสังกะสีโดยวิธีการจุ่มร้อนและอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 3) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เคลือบสังกะสีโดยวิธีการจุ่มร้อนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์

1. การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 132.22 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ10.11 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.01 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.80 รองลงมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.49 เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างในส่วนของภาคเอกชนในต่างจังหวัดยังขยายตัวได้ดี เช่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น กาญจนบุรี และยังเริ่มเห็นการกระจายโครงการในนครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี หรือ ราชบุรี มากขึ้น สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ ร้อยละ 13.61 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 50.84 เนื่องจากปริมาณการผลิตในเดือนก่อนหน้านั้นลดลงจากปกติ และเมื่อในเดือนกุมภาพันธ์เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา จึงส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นรองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.15 เนื่องจากอุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋องยังขยายตัวได้ดีในตลาดต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 4.49 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งและเกิดเหตุความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 12.00 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.77 เพราะการก่อสร้างในโครงการต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชนยังคงมีอยู่

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่าการเปลี่ยนแปลงของ ดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea)ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจาก 115.51 เป็น 115.88 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.32 ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มี ดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น ลดลงจาก 117.02 เป็น 113.82 ลดลง ร้อยละ 2.73 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 116.94 เป็น 114.58 ลดลง ร้อยละ 2.02 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 120.46 เป็น 119.76 ลดลงร้อยละ 0.59 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 112.82 เป็น 112.20 ลดลงร้อยละ 0.55 สำหรับราคาสินแร่เหล็กในเดือนมีนาคม ออสเตรเลียผู้ส่งออกแร่เหล็กที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้มีการปรับลดราคาสินแร่เหล็กในปีนี้และคาดว่าจะลดลงต่อไปในปี 2558 เนื่องจากบริษัท Rio Tinto (RIO) Group และ BHP Billiton Ltd มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สำนักเศรษฐกิจทรัพยากรและพลังงานออสเตรเลีย (BREE) เปิดเผย ราคา spot ในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงจาก 119 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและคาดว่าจะอยู่ที่ 103 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในปี 2558

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมีนาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กทรงยาวจะยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการต่อเนื่องของรัฐ และเป็นช่วงฤดูแล้งที่เหมาะกับการก่อสร้างอย่างไรก็ตาม เหล็กทรงยาวเพื่อการก่อสร้างก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากจีน จนกว่ามาตราการตอบโต้การทุ่มตลาดจะมีผลบังคับใช้อีกครั้ง นอกจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อและยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการเพื่อรอความชัดเจน ส่วนเหล็กทรงแบนคาดว่าการผลิตและจำหน่ายจะยังคงเพิ่มขึ้น จากการที่มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาหลังจากเหล็กในสต๊อกของลูกค้าใกล้หมดแล้ว และเป็นความต้องการใช้ตามปกติ ในช่วงไตรมาสแรกของปี นอกจากนั้น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับเหล็กแผ่นรีดเย็น (จากจีน เวียดนาม และไต้หวัน) ที่มีผลบังคับใช้อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และมาตรการปกป้องการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม ได้ส่งผลให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า การผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง แม้ว่าไตรมาสแรกจะเป็นช่วงปกติที่มีความต้องการใช้เหล็กสูง แต่ความต้องการใช้เหล็กในปีนี้จะไม่สูงเท่าที่ควร อันเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ จะส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะต้องรอดูทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนั้น การที่ พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งกระทบให้ความต้องการใช้เหล็กในปีนี้ต้องลดลงตามการลงทุนที่ชะงักไป โดยกลุ่มที่ลดลงอย่างชัดเจนคือ เหล็กทรงยาวเพื่อการก่อสร้าง สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบนนั้นก็ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกและการชะลอตัวของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดใน ประเทศ อันเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีฐานที่ ค่อนข้างสูง อันเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 173,506 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการผลิต 229,204 คัน ร้อยละ 24.30 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 6.67 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 71,680 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 128,392 คัน ร้อยละ 44.17 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับSUV แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 4.63 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 97,171 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการส่งออก 96,678 คัน ร้อยละ 0.51 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 19.93 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากการส่งออกรถยนต์จะมีการขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับการจัดงาน Motor Show ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2557 -6 เมษายน 2557 เป็นการส่งเสริมตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2557ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และส่งออกร้อยละ 54

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก มีการชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 148,575 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการผลิต 186,375 คัน ร้อยละ 20.28 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 6.84 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 150,160 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 177,736 คัน ร้อยละ 15.52 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 19.55 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 25,670 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการส่งออก28,336 คัน ร้อยละ 9.41 โดยเป็นการลดลงในประเทศมาเลเซีย พม่าและอินโดนีเซีย แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 2.42 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสวีเดน ญี่ปุ่น และเยอรมนี

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากตลาด ภายในประเทศได้รับปัจจัยเสริมจากการจัดงาน Motor Show ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2557 -6 เมษายน 2557 อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2557ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 86 และส่งออกร้อยละ 14

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากไทยมีการเพิ่มปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์มากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นของตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย”

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 และ 4.99 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.50 และ 7.62 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดีโดยมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตและจำหน่ายที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกก็มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้นเช่นกัน

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 11.19 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.71

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีการผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยต้องการรักษาตลาดส่งออกของไทยไว้ เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกปูนซีเมนต์ไปยังตลาดต่างๆ ได้ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งอาจทำให้ไทยเสียตลาดได้ในอนาคต

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงที่ ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคก่อสร้างบ้างเล็กน้อยก็ตาม อย่างไรก็ดี มาตรการ ลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ตามแนวโน้มการผลิตที่คาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน ถึงแม้ว่าไทยจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอตัวของ HDD ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ4.75 จากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.พ. 2557
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)          %MoM           %YoY
          เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ              1,427.37               -5.28           8.17
          แผงวงจรไฟฟ้า                                    519.92                4.19          10.33
          เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ                      468.65               13.91          14.62
          เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ                   282.25               -7.93           0.84
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                  4,383.44               -0.60           8.56
          ที่มา กระทรวงพาณิชย์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.06 ลดลงร้อยละ 2.92 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 0.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 147.18 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง ยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.17 และ 27.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนและสหภาพยุโรป รวมถึงสายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีการปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้มีความต้องการสายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 19.77 21.58 และ 6.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 327.22ลดลงร้อยละ 4.14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 2.12เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลงอย่างไรก็ตามในส่วนของ Semiconductor, Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.67 16.89และ 4.74 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟนที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และเป็นชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีมูลค่า 4,383.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,880.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.60 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 468.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.91เทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 282.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.93 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,503.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 1.47 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออก 1,427.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.28 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ HDD มีการพัฒนาให้สามารถนำไปใช้ในระบบ Cloud และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่รองรับการจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้มีมูลค่าการจำหน่ายสูงขึ้น แม้ว่าปริมาณการผลิตจะลดลงกว่าที่ผ่านมาก็ตาม รองลงมาคือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 519.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.19 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้มากขึ้น

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 0.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ