สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 23, 2015 16:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่ไทยมีวันหยุดยาว แรงงานในภาคก่อสร้างต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง การส่งออกปูนซีเมนต์ในภาพรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 3 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าไตรมาสที่ 2 และจะสามารถฉุดให้มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.57 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.40 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 6.46 และร้อยละ0.18 ตามลำดับ สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณลดลงร้อยละ 5.28 และร้อยละ1.42ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อยจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับภาคก่อสร้างของไทยยังไม่ขยายตัวมากนัก ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างทรงตัว

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.21 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.17 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.04 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ4.55เนื่องจากช่วงไตรมาสที่สองของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว แรงงานในภาคก่อสร้างต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัว ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ2.44ซึ่งถือเป็นสัญญานที่ดีของการขยายตัวของภาคก่อสร้างในประเทศ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.29 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178.79ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.98 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 39.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 และ 5.84 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 16.23 และ 18.17 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 2.31 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 139.14ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 6.47และ 7.11ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.00และ 9.11ตามลำดับ การส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในภาพรวมยังขยายตัวได้เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงบังคลาเทศซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศของตน รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์ ตามด้วยกัมพูชา ลาว บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับในไตรมาสแรก

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีปริมาณรวม 4,910.72 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.01 และ 36.17 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 และ 42.22ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 85.02 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.02 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,825.70 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.90ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้าส่วนมากเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อทดสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบกับปูนซีมเนต์ที่ผลิตได้ในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเนเธอร์แลนด์รองลงมา คือ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และฝรั่งเศสตามลำดับ เช่นเดียวกับเมื่อไตรมาสก่อน

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2558 มีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าควบคุม หากบริษัทผู้ผลิตต้องการจะปรับขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน จึงคาดว่าจะไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ และยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีปริมาณปูนซีเมนต์ค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 2ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแสดงให้เห็นว่าภาคก่อสร้างในประเทศเริ่มมีการขยายตัวที่ดีขึ้น ถือเป็นสัญญานที่ดีของการขยายตัวของตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ต่อไป

ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2ของปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในระดับสูงคงที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้พร้อมต่อการเปิด AEC ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาครัฐเร่งใช้จ่ายให้ทันสิ้นปีงบประมาณ ภาคก่อสร้างจึงน่าจะคึกคักขึ้น สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากคาดว่าประเทศคู่ค้าหลักของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ทันการเปิด AEC ในปลายปีนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ