พม. เร่งขยายผล ‘เล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก’

ข่าวทั่วไป Thursday July 28, 2011 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--พม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทีปังกรการุณยมิตร อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ขยายผลโครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก จัดเวทีเรียนรู้พ่อแม่ นำวัฒนธรรมพื้นบ้านร่วมสานสายใยรักแห่งครอบครัว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินงานโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ภายใต้ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อสืบสานพระปณิธานในการสร้างเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 ซึ่งโครงการ “เล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก” ได้พัฒนาให้เกิดมี “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” ที่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเด็ก การเล่านิทาน อ่านหนังสือ และเล่นกับลูก กระจายออกไปในพื้นที่กว่า 30 จังหวัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลเด็กเล็ก สร้างให้เกิดวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก และให้สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กร่วมกัน โดยล่าสุด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ร่วมกับ “วิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก” และ “เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา” เปิด “เวทีเรียนรู้พ่อแม่” ขึ้น ณ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทีปังกรการุณยมิตร อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถ่ายความรู้และเทคนิคในการพัฒนาเด็กด้วยกระบวนการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครองในพื้นที่ นายสาระ ทันสมัย ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา ซึ่งรับผิดชอบดูแลศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทีปังกรการุณยมิตร เปิดเผยว่า ทางเทศบาลฯ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา และมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาทุกระดับในพื้นที่ “เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นเวทีที่จะสามารถพัฒนาคนได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 3 ขวบ ตามพระปณิธานของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ โดยจุดเด่นที่นี่ก็คือเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ ๓ วัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว และศูนย์พัฒนาเด็กที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กเล็กในการทำกิจกรรมร่วมกัน” โดยในการจัดเวทีเรียนรู้พ่อแม่ในครั้งนี้ ได้เชิญผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุพื้นบ้านที่สามารถทำได้ง่ายๆ อาทิ “กบกระโดด” และ “งูลืนเขียด” ที่สานจากไม้ไผ่ ซึ่งสร้างความสนใจให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการสอนวิธีการสาน “ปลาตะเพียน” และ “นก” จากทางมะพร้าว ที่สามารถใช้เป็นของเล่นได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย นางสาวชนิกานต์ เหมือนศิริ ครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา และวิทยากรกระบวนการสานสายใยรัก กล่าวว่า การได้เข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนการฯ ทำให้ครูผู้ดูแลเด็กเกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยมากขึ้น รวมไปถึงสามารถถ่ายทอดความรู้และเทคนิคในการดูแลและแนวทางการพัฒนาเด็กไปสู่ผู้ปกครองได้ดีขึ้น “เราจะใช้นิทานเพื่อสอนเด็กๆ ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นิทานเพื่อสร้างหรือปรับพฤติกรรมของเด็กๆ การสร้างความมีระเบียบวินัย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นิทานก็ยังมีส่วนในการพัฒนาด้านกายภาพของเด็กทั้งในเรื่องของการพูด การฟัง และการสร้างเสริมด้านสติปัญญา ส่วนการเล่นของเด็กนั้นก็จะช่วยเสริมในด้านพัฒนาการต่างๆ ของร่ายกาย ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ ได้เคลื่อนไหว” ครูชนิกานต์ระบุ นายณัฐวัฒน์ และ นางดรุณี ทองคำฟู พ่อและแม่ของ “น้องโปเต้” หรือ เด็กชายธีรภัทร ทองคำฟู วัย 5 ขวบเล่าถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเวทีพ่อแม่ซึ่งเป็นครั้งที่สองแล้วว่า กิจกรรมนี้มีประโยชน์มาก เพราะครอบครัวปัจจุบันทุกคนก็มัวแต่จะทำงาน แต่เวทีนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของการให้เวลากับลูก มีความรู้และรู้จักวิธีการที่จะดูแลส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ของลูกมากขึ้น “อย่างการเล่านิทาน แต่ก่อนถ้าเราอ่านแค่ในหนังสือลูกก็จะหลับ แต่พอมีท่าทางและน้ำเสียงประกอบไปด้วยในระหว่างที่เล่า ลูกก็จะยิ่งให้ความสนใจซักถามเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือลูกกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น ถ้าพูด กล้าคุย กล้าซักถาม บางครั้งทำท่าทางตามนิทานที่เล่า และถ้าเขาสนใจในเรื่องอะไรก็กล้าที่จะถามเราทันที” คุณแม่ของน้องโปเต้กล่าว นายอิศรา และ นางอิศราภรณ์ ปานประสิทธิกุล พ่อและแม่ของ “น้องเพชร” หรือ เด็กชายเพชรร้อย ปานประสิทธิกุล วัย 6 ขวบ กล่าวว่า การเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูกนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ โดยเริ่มเล่านิทานให้ลูกฟังตั้งแต่เขาเริ่มมีอายุแค่ 8 เดือน โดยนิทานจะช่วยสร้างเสริมจินตนาการให้กับเด็ก ส่วนการเล่นก็ช่วยทำให้เขากล้าแสดงออก “พัฒนาการที่เห็นเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกันพบว่า เขาเป็นคนที่คิดเร็ว สร้างสรรค์ได้เร็วกว่า ชอบเขียนหรือวาดภาพ หรือมีจินตนาการตามที่เรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าให้เขาฟัง และชอบคิดที่จะทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความรู้และความเข้าในเรื่องของการเสริมสร้างพัฒนาในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมให้กับลูกในแต่ละช่วงวัย” คุณแม่ของน้องเพชรกล่าว แม้แต่ “แม่อุปการะ” อย่าง “นางเกี๋ยงคำ บัวปัน” วัย 55 ปีที่รับเด็กจาก “สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์” มาช่วยดูแลที่บ้านหรือที่เรียกว่า Foster Home ก็ยังเห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว “เวลาที่จะเล่านิทานเด็กๆ ทุกคนก็จะเข้ามาล้อมวงตั้งใจฟังด้วยสีหน้าและแววตามีความสุข เห็นได้ชัดเจนว่าการอ่านหนังสือ เล่านิทาน หรือการพูดคุย และเล่นกับเขา จะทำให้เด็กๆ ร่าเริงขึ้น มีความสุขมากขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อเด็กมีความสุขเราก็มีความสุขไปด้วย และการเล่านิทานหรือการได้เล่นกับเด็กๆ ยังทำให้เรารู้สึกว่าได้ย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง” แม่เกี๋ยงระบุ “กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการเล่านิทาน อ่าน และเล่นกับลูก เราต้องการจุดประกายให้สังคมไทยเห็นว่า อย่าไปรอให้โตก่อนจึงค่อยพัฒนา เพราะเด็กสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ต้องรอความพร้อมจากที่ไหน เพราะความพร้อมอยู่ที่ตัวพ่อแม่ อยู่ในตัวของชุมชน อยู่ในตัวของภูมิปัญญาท้องถิ่น อยู่ในตัวของเราเอง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาของที่มีราคาแพง หัวใจของการพัฒนาครอบครัวคือ เวลา กิจกรรม และการเรียนรู้ โดยพ่อและแม่จะมีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก” นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ