แพทย์โรคไตแนะเป็นโรคไต “รู้ก่อนยิ่งดี...ชะลออาการได้” ชวนผู้ป่วยเรียนรู้โภชนาการ ออกกำลังกายวันละนิด ร่างกายแข็งแรง

ข่าวทั่วไป Thursday October 31, 2013 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--Noname IMC แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตร และสาขาเจริญกรุง เชิญชวนประชาชนตรวจสุขภาพก่อนเป็นโรคไต แนะให้รีบรักษาอย่างถูกวิธีก่อนลุกลาม ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและรักษาโรคไตเรื้อรังอย่างถูกวิธี พร้อมแนะนำผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ และเวิร์คชอปการออกกำลังกาย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ และยาวนานขึ้น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์กการมหาชน) สาขาพร้อมมิตร และสาขาเจริญกรุง จัดสัมมนา “เป็นโรคไต...แต่ใจยังอยู่” โดยได้รับเกียรติจาก นพ.สุรพงษ์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล บ้านแพ้ว (องค์กการมหาชน) เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นพ.จอมศักดิ์ สุรกิจบวร ผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้วฯ สาขาพร้อมมิตร พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง และ คุณบุปผา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตราฐานทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม มาให้ความรู้ด้านสิทธิการเบิก-จ่ายของผู้ป่วยในการรักษาโรคไต ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจากผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ “เป็นโรคไต...แต่ใจยังอยู่” เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยให้ยอมรับและสามารถอยู่กับโรคไตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการสาธิตล้างไตทางช่องท้องที่ถูกวิธีให้ผู้ป่วยเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีสาธิต “ออกกำลังกายสลายบวม” โดยพยาบาล และอาสาสมัครผู้ป่วยโรคไต ให้คำแนะนำและสอนท่าออกกำลังกายอย่างถูกวิธีสำหรับผู้ป่วยโรคไตด้วย ณ ศูนย์บริการล้างไตทางช่องท้อง โรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ สาขาเจริญกรุง เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์สุรพงษ์ บุญประเสริฐ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขในประเทศไทย ซึ่งทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้เล็งเห็นความสำคัญทั้งในเรื่องของการป้องกัน ร่วมรณรงค์ทำอย่างไรไม่ให้เป็นโรคไต และเมื่อเป็นแล้วจะทำอย่างไร ในการรักษาเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐในการเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้องในกรุงเทพฯ 2 สาขา ได้แก่ สาขาพร้อมมิตร และสาขาเจริญกรุง เพื่อรองรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และล่าสุดทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการล้างไตทางช่องท้อง ครอบคลุมถึงผู้ป่วยที่ใช้สิทธิประกันสังคม ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยประกันสังคม และยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคไตให้เข้าถึงการบริการได้รวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเรามีทีมแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ และเจ้าหน้าที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยที่มารับการรักษาส่วนใหญ่จึงมักจะมีค่าการทำงานของไตเหลือน้อย หรือต่ำกว่า 20% ซึ่งผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่จะมาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีอายุมาก และผู้ป่วยที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไตมาก่อน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และผู้ป่วยที่รับประทานยามาเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาต้ม ยาหม้อ หรือยาสมุนไพรต่างๆ ด้วย ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรเฝ้าระวังอาการด้วยการตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจเลือดวัดค่าการทำงานของไตเป็นระยะสม่ำเสมอ โรคไตวายเรื้อรัง แบ่งอาการเป็น 5 ระยะ โดยระยะที่ 1-2 เป็นระยะที่ปลอดภัย สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสาเหตุ เป็นนิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ แต่ถ้าไม่รีบรักษา อาการจะลุกลามไปถึงระยะที่ 3-4-5 ซึ่งถือว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว มีค่าการทำงานของไตต่ำกว่า 60% ส่วนใหญ่มักมีอาการ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ตัวซีด สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มักจะเฝ้าระวังตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จะมีโอกาสพบก่อนว่าตัวเองเป็นโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถรักษาได้ก่อน “สำหรับโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่สามารถชะลออาการไม่ให้ทรุด และลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบได้ แต่ปัญหาของผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่ก็คือ เมื่อทราบว่าตัวเองป่วยมักจะมีอาการผิดหวัง เศร้าใจ และท้อแท้กับชีวิต ดังนั้น กำลังใจจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายไปได้ การรับประทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ร่วมกับการรักษาบำบัดทดแทนไตอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยยืดระยะเวลาการทำงานของไตได้ยาวนานขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การล้างไตทางช่องท้อง (มีทั้งแบบล้างไตด้วยตนเองวันละ 4 ครั้ง และล้างด้วยเครื่องอัตโนมัติวันละ1 ครั้ง ) การฟอกเลือด และ การปลูกถ่ายไต โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตสามารถเบิกค่ารักษาได้ตามสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ หากผู้ป่วยดูแลตนเองดีๆก็สามารถมีชีวิตยืนยาวและทำงานได้เหมือนคนปกติ” พญ.ปิยะธิดา กล่าว ด้าน คุณบุปผา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตราฐานทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า แม้ว่าการล้างไตทางช่องท้องจะเป็นวิธีที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนวัยทำงาน เพราะผู้ป่วยสามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลทุกสัปดาห์ แต่ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการค่อนข้างน้อย ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมเอง จึงได้มีการขยายช่องทางด้านการรักษาไปยังโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ได้รับบริการมีคุณภาพ สะดวกและรวดเร็ว มีผลช่วยลดอัตราการเกิด ภาวะแทรกซ้อนจากการรอคิวนานได้ นายเอกพงศ์ จารุเพ็ง ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) ในสิทธิประกันสังคม กล่าวว่า “ผมตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แต่เมื่อปี 2553 ตรวจพบว่าค่าไตของผมทำงานผิดปกติ ช่วงแรกมีอาการเพลีย ตัวบวมแต่ไม่ได้ใส่ใจดูแลเท่าไร คิดว่าตัวเองอ่อนเพลียจากการทำงาน และคิดว่าตัวเองอ้วน ซึ่งจริงๆ แล้วตัวผมบวม และมาเริ่มรักษาด้วยการกินยาอยู่ 1 ปี แต่อาการไม่ดีขึ้น หมอบอกว่าผมต้องฟอกเลือด ตอนนั้นเครียดและกังวลมาก เนื่องจากผมต้องทำงาน ถ้าผมฟอกเลือดผมต้องไปโรงพยาบาล 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่โชคดีที่มีคนรู้จักแนะนำให้ล้างไตทางช่องท้อง ผมจึงไปปรึกษาคุณหมอ และตัดสินใจเลือกวิธีนี้มาร่วม 2 ปีแล้ว ผมยังสามารถทำงานได้ ผมเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทโมเดิร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผมอยู่ได้เหมือนคนปกติ สามารถไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดได้ เพียงแต่ผมต้องล้างไตทางช่องท้องวันละ 4 ครั้ง และที่สำคัญเราต้องดูแลตัวเอง งดทุกอย่างที่เป็นภาวะเสี่ยงของโรค และปฏิบัติตามข้อแนะนำต่างๆ ของคุณหมออย่างเคร่งครัด เรื่องอาหารการกินก็งดเค็มงดหวาน ผงชูรสต่างๆ เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ ผมจึงอยากฝากถึงผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคไตว่าอย่าเพิ่งท้อแท้หมดสิ้นกำลังใจ เราสามารถที่จะเรียนรู้อยู่กับโรคนี้และทำงานได้ปกติอย่างคนทั่วไป นางปสุตา ฉัตตะวานิช ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) กล่าวว่า ปัจจุบันดิฉันอายุ 62 ปี ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังมานานกว่า 20 ปีแล้ว เริ่มแรกของอาการก็คือ รู้สึกอ่อนเพลีย นอนแล้วไม่อยากจะตื่น จึงลองไปตรวจเลือดและปัสสาวะดู ก็พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไต แต่อยู่ในระยะเริ่มแรก จึงเริ่มรักษาโดยพบแพทย์เดือนละครั้ง และดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่ดี ก็อยู่ได้มานานถึง 20 ปี จนเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ดิฉันมีภาวะความเครียดสูง ไตทำงานหนัก จึงเกิดภาวะไตวายเพิ่มขึ้น หมอบอกว่าต้องเริ่มรักษาแบบบำบัดทดแทนไตแล้ว ซึ่งทำให้ดิฉันเครียดหนักเข้าไปอีก กลัวว่าจะไปไหนไม่ได้ ต้องอยู่แต่กับบ้าน และโรงพยาบาล แต่คุณหมอก็แนะนำให้ล้างไตทางช่องท้อง เพราะสามารถทำเองได้ที่บ้าน และสามารถมีชีวิตอิสระได้ ดิฉันจึงเริ่มรักษาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เป็นการล้างไตด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติในเวลากลางคืนขณะที่เราหลับ ส่วนกลางวันเราก็สามารถทำอะไรก็ได้ ทำให้ดิฉันมีกำลังใจดีขึ้น รวมทั้งกำลังใจจากครอบครัวก็ทำให้ดิฉันต่อสู้ และสามารถอยู่กับโรคได้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศกับครอบครัวได้
แท็ก โภชนาการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ