“ต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์” : นิทรรศการเฉลิมฉลอง 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา

ข่าวทั่วไป Tuesday November 5, 2013 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงข่าวเปิดชุดนิทรรศการ “ต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ : 260 ปี พระอุบาลี จาริกจารึกนามสยามวงศ์ในลังกา” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา พร้อมย้อนรำลึกประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยและศรีลังกา เพื่อสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมใหม่ เส้นทางแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน โดยได้รับเกียรติจาก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดนิทรรศการฯ ณ ห้องเบิกโรง อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทย และ ศรีลังกา มีพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฝากฝั่งมหาสมุทร ซึ่งได้ดำเนินมายาวนานถึง 260 ปี จากจุดเริ่มต้นที่ “พระอุบาลีมหาเถระ” และคณะพระธรรมทูตจากสยาม มีความพยายามเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังศรีลังกา เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมามั่นคงดังเดิม นำมาซึ่งความซาบซึ้งอยู่ในจิตใจของชาวศรีลังกาเป็นอย่างดีตราบจนถึงปัจจุบัน “ชุดนิทรรศการต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ฯ ที่จัดขึ้นในมิวเซียมสยามครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกาแล้ว ยังเป็นการเปิดเผยข้อมูลในอีกแง่มุมทางประวัติศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศที่ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือเกื้อกูล ผูกพัน และเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นด้วยพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่าการนำเสนอเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ จะทำให้คนไทยทุกคนเกิดความรู้ เกิดความเข้าใจ และเกิดเป็นความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว การจัดนิทรรศการต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ฯ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกานั้นจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อจัดกิจกรรมสำคัญที่จะนำเสนอองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศศรีลังกา ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นายกนก แสนประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึง ความเป็นมาในการดำเนินการโครงการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 260 ปี แห่งการประดิษฐานของพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา และรำลึกถึงคุณูปการของพระอุบาลีมหาเถระ ผู้สถาปนานิกายสยามวงศ์ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดนิทรรศการต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ฯ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งยาวนานมาถึงปีที่ 260 “ด้วยในปีพุทธศักราช 2556 เป็นปีที่ครบรอบ 260 ปี แห่งการประดิษฐานของพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของพระอุบาลีมหาเถระจากกรุงศรีอยุธยาผู้สถาปนานิกายสยามวงศ์ อันเป็นหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถรวาทนิกายหลักของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาในปัจจุบัน ประกอบด้วยกับ รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา จึงได้จัดนิทรรศการฯ นี้ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่เส้นทางประวัติศาสตร์แห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาอันเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและตระหนักในบทบาทหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและมั่นคงสืบไป” ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เผย นายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ผู้ริเริ่มดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ในโอกาสครบรอบ “260 ปี แห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา” น้อยคนนักที่จะรู้จัก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับศรีลังกา ที่เชื่อมร้อยเกี่ยวรัดไว้ด้วยพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของสมณทูตสยามในครั้งนั้น เป็นที่ซาบซึ้งอยู่ในจิตใจของชาวศรีลังกาเป็นอย่างดี “เรื่องราวเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับรู้และรับทราบ เพราะเป็นต้นกำเนิดของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับศรีลังกา เพราะกว่าที่ทั้ง 2 ประเทศจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กันได้ทางศรีลังกาต้องส่งคณะทูตเดินมาถึง 3 ครั้ง สูญเสียผู้คนไปเป็นจำนวนมาก จึงจะได้พบกับพระมหากษัตริย์ไทย และกว่าที่พระอุบาลีมหาเถระและคณะพระธรรมทูตจากวัดธรรมมาราม กรุงศรีอยุธยา จะเดินทางไปถึงลังกาได้นั้นก็มีอุปสรรคมากมาย เพราะการเดินทางโดยเรือสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามถึง 2 ครั้งจึงประสบผลสำเร็จ ซึ่งความพยายามของสมณทูตสยามในครั้งนั้นเป็นที่ซาบซึ้งอยู่ในจิตใจของชาวศรีลังกาเป็นอย่างดี จนมีคำกล่าวว่า ในครั้งนั้นถ้าพระอุบาลีฯ ไม่เดินทางไป ชาวศรีลังกาคงไม่ได้นับถือศาสนาพุทธมาจนถึงทุกวันนี้” นายพลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบกล่าว ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวว่า สพร. ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่รื่นรมย์ ในเรื่องการเผยแพร่ความรู้ที่นำมาซึ่งการสร้างสำนึก การรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้านและรู้จักโลกให้มากยิ่งขึ้น การจัดชุดนิทรรศการและนิทรรศการภาพถ่ายต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือเป็นรากเหง้าสำคัญที่หล่อหลอมและสะท้อนตัวตนความเป็นคนไทยได้อย่างชัดเจน “เนื้อหาในชุดนิทรรศการฯ และกิจกรรมอื่นๆ ทื่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเผยแพร่เส้นทางแห่งประวัติศาสตร์แห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาอันเกิดจากความร่วมมือของประเทศไทยและประเทศศรีลังกา ที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้าง โดยเฉพาะกับประชาชนทั้งสองประเทศ ที่จะได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน” ผอ.สพร.กล่าวสรุป ชุดนิทรรศการ “ต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์ : 260 ปี พระอุบาลี จาริกจารึกนามสยามวงศ์ในลังกา” มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 — วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2556 เวลา 10.00 — 18.00 น. ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราว อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม พร้อมพบกับกิจกรรมต่อเนื่องมากมายตลอดนิทรรศการฯ อาทิ กิจกรรมภาพถ่ายสองวัฒนธรรม, กิจกรรมเสวนาต้นธารสยาม-ลังกาวงศ์, กิจกรรมเสวนาเบื้องหลังภาพถ่ายความสัมพันธ์ 2 วัฒนธรรม, กิจกรรม Workshop วาดภาพการ์ตูน พระอุบาลีวีรบุรุษทางด้านพระพุทธศาสนา และ การเปิดตัวหนังสือการ์ตูน “พระอุบาลี เพชรเม็ดงามของสยามวงศ์” ผลงานโดย โอม รัชเวทย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 400 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ