มัคคานซิส เผย แนวโน้มภัยคุกคามทางการเงินบนโลกออนไลน์ จะเพิ่มขึ้นอีกมากตามการใช้งาน

ข่าวทั่วไป Thursday November 21, 2013 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--มัคคานซิส จากเหตุการณ์การโจรกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยวิธีการสกิมมิ่งเพื่อคัดลอกเอาข้อมูลบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิตเพื่อถอนเงินนั้น ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่และชวนติดตามอย่างใกล้ชิด การโจรกรรมโดยวิธีดังกล่าวไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อนก็ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเช่นกัน ธนาคารเจ้าของบัตรและตู้กดเงินสดต่างก็มิได้นิ่งนอนใจโดยมีการเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันการคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็ก หรือ Anti-skimming เพื่อบีบให้ช่องทางใส่บัตรให้แคบที่สุดและไม่สามารถติดแถบเครื่องมือโจรกรรมอื่นๆ ที่ช่องเสียบบัตรได้นั้นเอง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเจ้าของตู้กดเงินสดต่างมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวดขึ้นด้วยการจัดเวรยามในการตรวจตราตามตู้กดเงินสดตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเพียงการป้องกันได้ชั่วคราวเท่านั้น และยังไม่ใช่วิธีแก้ไขที่จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิด หรือลดความสูญเสียจากการโจรกรรมได้ แต่อย่างไรก็ดี มาตรการเสริมดังกล่าวก็ได้แสดงถึงความตื่นตัวในการหาวิธีป้องกันที่เข้มงวดขึ้นในขณะเดียวกันมิจฉาชีพก็ได้แสวงหาวิธีการโจรกรรมในรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมไอซีทีจากมัคคานซิส บริษัทที่ปรึกษาด้านข้อมูลและวางแผนกลยุทธ์ นางสาวเฉลิมพร อภิบุณโยภาส ได้ให้ความเห็นว่า“ATM Skimming ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามหนึ่งที่อยู่ในช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่ช่องทางนี้ที่มีการถูกโจรกรรม อีกช่องทางหนึ่งที่มีภัยคุกคามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ ภัยคุกคามบนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2555 ที่ผ่านมา สัดส่วนของปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์ หรือผ่านทางเครือข่าย(e-Payment) โดยภาพรวมมีปริมาณการชำระเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 13.5 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่องทางที่มีปริมาณการชำระเงินมากที่สุด คือ ผ่านเครื่อง ATM สูงถึงร้อยละ 35รองลงมาคือเครื่องรับ-รูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์(EDC) ร้อยละ 33 และ ผ่านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 26 ตามลำดับ ในขณะที่ข้อมูลสถิติภัยคุกคามจากไทยเซิร์ตในปี 2555 นั้น จะเห็นว่าภัยคุกคามที่ได้รับแจ้งทั้งหมด 792 เรื่อง เป็นเรื่องฉ้อฉล ฉ้อโกงหรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ หรือ เรียกกว่า ฟิชชิ่ง(Phishing) หรือการฉ้อโกงรูปแบบหนึ่งที่มีการพยายามหลอกล่อให้เหยื่อจ่ายเงินหรือโอนเงินโดยมีเทคนิคหลอกลวงที่สมบูรณ์แบบสูงถึงร้อยละ 68 จากจำนวนรับแจ้งทั้งหมด ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการเงินที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการให้บริการทางการเงินควรตระหนักถึงประเด็นด้านภัยคุกคามลักษณะนี้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและหาทางรับมือได้อย่างทันถ่วงที เพื่อลดการสูญเสียทั้งเงิน ความเชื่อมั่น และชื่อเสียงของผู้ให้บริการนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ