ก.ล.ต. สนับสนุนผู้ลงทุนสถาบันประกาศแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น

ข่าวทั่วไป Thursday March 27, 2014 12:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ก.ล.ต. ผู้ลงทุนสถาบันได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกันประกาศแนวทางการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น มุ่งยกระดับบริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนไทยให้มีคุณภาพ และเติบโต อย่างยั่งยืน จากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้ลงทุนสถาบันครั้งแรก เพื่อประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ ผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมประกาศความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ในการกำหนดแนวทางการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นโดยกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจในตลาดทุน แนวทางดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องที่จะถือปฏิบัติเมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกำกับดูแลบริษัทที่ไปลงทุนในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ อาทิเช่น กำหนดนโยบายในการไปลงทุนในบริษัท ติดตามผลประกอบการของบริษัทเป็นประจำ มีการนัดประชุมเพื่อหารือกับฝ่ายจัดการของบริษัท และใช้สิทธิลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้น การให้ความสำคัญกับเหตุผลหรือความจำเป็นของข้อเสนอ ประโยชน์ที่บริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมจะได้รับในระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันพร้อมที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 เป็นต้นไป นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ขอชื่นชมกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันทั้ง 6 แห่งที่มีความตั้งใจดีและได้ร่วมกันสร้างบรรทัดฐานในการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อความถูกต้องเหมาะสม เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างมีคุณภาพในบริษัทจดทะเบียน สอดคล้องกับแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน หรือ Sustainability Roadmap ของ ก.ล.ต. การประกาศแนวทางการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ลงทุนสถาบันครั้งนี้ เป็นพลังที่เกิดจากการร่วมใจ ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนตลาดทุนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไป ก.ล.ต. จัดทำคู่มือ “สาระต้องรู้ก่อนเข้าประชุมผู้ถือหุ้น” ไว้เพื่อให้เป็นแนวทางในการประชุม ผู้ถือหุ้นและตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเผยแพร่ไว้ในสื่อประชาสัมพันธ์ทุกชนิดของ ก.ล.ต. นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้ให้การสนับสนุนการเกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เข้าร่วมโครงการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สำนักงาน คปภ. เองก็ร่วมแถลงการณ์ให้การสนับสนุนกลุ่ม ผู้ลงทุนสถาบัน ประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานและการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน และในครั้งนี้ได้ให้การสนับสนุนการมีแนวปฏิบัติร่วมกันเกี่ยวกับการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ลงทุนสถาบัน โดยเชื่อมั่นว่า การสร้างมาตรฐานแนวปฏิบัติที่ดีจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การประกอบธุรกิจประกันภัย บริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งตลาดทุนไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน และทัดเทียมนานาประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมการเงินไทย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความโปร่งใสอีกด้วย นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการประกาศแนวทางออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันไทย ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทในฐานะเจ้าของกิจการเพื่อกระตุ้นให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งสอดคล้องและเป็นการตอกย้ำนโยบายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียนให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ การที่ผู้ลงทุนสถาบันเล็งเห็นความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนไทย ขณะเดียวกัน แนวปฏิบัติดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีคุณภาพต่อไป นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งบริหารกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนรวมกันมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนในหุ้นสูงกว่า 90,000 ลบ. เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส แสดงรายงานทางการเงินที่น่าเชื่อถือ และมีจำนวนและคุณสมบัติของกรรมการอิสระที่เหมาะสม ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งได้รับความไว้วางใจให้บริหารเงินออมของประชาชนรวมกันมากกว่า 7 ล้านล้านบาท เราจะร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างนักลงทุนมืออาชีพ ในการกำกับดูแลกิจการที่เรา นำเงินไปลงทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทจดทะเบียน เพื่อสร้างดอกผลที่มั่นคงให้กับเงินออมของประชาชนในระยะยาว นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ในฐานะที่ กบข.เป็นนักลงทุนสถาบันที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารเงินลงทุนกว่า 630,000 ล้านบาท ของสมาชิกข้าราชการทั่วประเทศ กบข. จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง กับการมีแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้นักลงทุนสถาบัน สามารถผสานความร่วมมือกันใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกิจการ เพื่อยกระดับการบริหารบริษัทตามหลักธรรมาภิบาล และสร้างความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม นายสมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเชื่อว่าแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงนี้ จะเพิ่มความโปร่งใสและชัดเจนในกระบวนการตัดสินใจลงทุนของสมาชิก และทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิดบรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือหน่วย ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นสถาบันตัวกลางในการให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุน และเป็นกลไกหลักในการเผยแพร่บทวิเคราะห์และข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยและบริษัทหลักทรัพย์ให้ความสำคัญต่อการมีบรรษัทภิบาล มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมาโดยตลอด ในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมีพอร์ตการลงทุนเป็นมูลค่า 45,000 ล้านบาท สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย จะรณรงค์ให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นตามแนวทางที่กลุ่ม 6 สถาบันได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนให้ ความสำคัญต่อการมีบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในที่สุด นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2556 ธุรกิจประกันชีวิตมีสินทรัพย์ลงทุนจากบริษัทประกันชีวิตทั้งสิ้น 1.63 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากประชาชนและบริษัทมีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ฯ สมาคมสนับสนุนให้บริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท ได้ปฏิบัติตามแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงคะแนนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่มีประโยชน์และเป็นธรรม และจะลงคะแนนไม่เห็นด้วย เมื่อเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ซึ่งจะมีผลให้บริษัทประกันชีวิตเป็นที่เชื่อถือของประชาชน และส่งผลในการขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียนไทยและตลาดทุนไทยเจริญเติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นโดยรวม นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้มีการส่งเสริมให้บริษัทประกันวินาศภัยมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี(Good Corporate Governance) รวมทั้งข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Best Practice) โดยการจัดทำออกมาเป็นคู่มือสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประกันวินาศภัยร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้แก่ลูกค้าหรือผู้ถือกรมธรรรม์ประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ธุรกิจประกันวินาศภัยเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Turning Point) ที่ต้องสร้างความมั่นคงแข็งแรงและมีประสิทธิภาพ จากบทบาทที่สำคัญดังกล่าว สมาคมจึงเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนให้บริษัทประกันวินาศภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ปฏิบัติตามแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงคะแนนเห็นด้วยกับข้อเสนอที่มีประโยชน์และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ทั้งนี้จากปี 2556 ที่ผ่านมาธุรกิจประกันวินาศภัยมีรายได้จากการลงทุนกว่า 6,700 ล้านบาท และวงเงินลงทุน 218,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ