พม. เพิ่มศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2014 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--พม. นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างประเทศไทยประชากรกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้สัดส่วนแรงงานอายุมากมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี ๒๕๕๖ จากข้อมูลของทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง พบว่า มีผู้สูงอายุทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๘,๙๗๐,๗๔๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๘๕ ของประชากรทั้งหมด แบ่งเป็นชายจำนวน ๔,๐๐๒,๕๔๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๕๗ ของประชากรชายทั้งหมด เป็นหญิงจำนวน ๔,๙๖๘,๑๙๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๐๘ ของประชากรหญิงทั้งหมด และมีผู้สูงอายุทั่วประเทศที่มีอายุ ๑๐๐ ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น ๒๔,๖๗๕ คน แบ่งเป็นชายจำนวน ๑๐,๗๗๙ คน เป็นหญิงจำนวน ๑๓,๘๙๖ คน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงศักยภาพและเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณค่าเปี่ยมล้นไปด้วยประสบการณ์ชีวิตและภูมิความรู้ต่างๆ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสนใจงานด้านอาสาสมัคร และเลือกอาชีพให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานด้านการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ได้กำหนดรูปแบบและแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อการส่งเสริม การดูแล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยบูรณาการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะเร่งผลักดันจัดตั้งศูนย์ฯ ทั่วประเทศ ให้ครบ ๘๗๘ แห่ง ภายใต้งบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา ๓ ปี ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์ไปแล้ว จำนวน ๙๙ แห่ง ในพื้นที่ ๗๓ จังหวัด โดยมี ๔ จังหวัด ที่ยังไม่มีพื้นที่จัดตั้งศูนย์ คือ กรุงเทพมหานคร นราธิวาส ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู “สำหรับศูนย์ฯดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อ ๑) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ ๒) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีสถานที่ในการจัดกิจกรรมและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ๓) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพ และการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน ๔) เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้รับการพัฒนา ด้านสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม และ๕) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ