สบส. ร่วมกับ แพทยสภา ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ชี้แจงมาตรฐานจรรยาบรรณแพทย์การปลูกถ่ายอวัยวะ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 8, 2014 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย แพทยสภา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กองบังคับการปราบปรามกระทำความผิดการค้ามนุษย์ ร่วมชี้แจงกรณีการปลูกถ่ายอวัยวะต้องได้ตามมาตรฐานของแพทยสภา และศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ต้องได้จรรณยาบรรณตามแพทยสภาบังคับ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยภายหลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีการปลูกถ่ายอวัยวะว่า ผู้ที่ทำการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต้องดำเนินการตามเกณฑ์ข้อบังคับ 6 ข้ออย่างเคร่งครัดดังนี้ 1.ผู้บริจาคต้องเป็นเครือญาติตามสายเลือด หรือคู่สมรสที่ทำการจดทะเบียนสมรสกับผู้รับอวัยวะ อย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น ยกเว้นกรณีเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในเกณฑ์สมองตายตามประกาศแพทยสภา 2.แพทย์ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะต้องตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานที่แสดงตามข้อที่ 1. และต้องเก็บหลักฐานในรายงานเวชระเบียนผู้ป่วย 3.แพทย์ต้องให้ความรู้แก่ผู้รับบริจาคถึงอันตรายก่อนและหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมทั้งลงนามแสดงความยินยอมบริจาคอวัยวะไว้เป็นลายลักษณ์อักษร 4. แพทย์ผู้ทำการปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำหลักฐานไว้เพื่อแสดงว่าไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้บริจาค 5.ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เหมาะที่จะบริจาคอวัยวะได้ 6.การปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำตามกฏเกณฑ์และต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 26 แห่ง ด้าน รศ.นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เปิดเผยทางด้านการแพทย์ว่าในส่วนของประเทศไทยกับสิงคโปร์ มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะในกลุ่มประเทศอาเซียน และกรณีการบริจาคอวัยวะสำหรับชาวต่างชาติที่มีชีวิตทั้งสองฝ่ายคือ ผู้บริจาค กับผู้รับบริจาค ให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ชาวต่างชาติได้รับอุบัติเหตุต้องทำการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้เพื่อทำให้ผู้รับบริจาคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสบส.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในประเทศกัมพูชาตามที่ตกเป็นข่าว เพื่อตรวจสอบการปลูกถ่ายอวัยวะใน 1 ปีที่ผ่านมาทั้ง 26 แห่ง เพื่อจัดระบบกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะไม่ให้ผัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ เน้นย้ำการกำกับ ดูแล มาตรฐาน กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน เพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นไปตามกฎข้อบังคับของแพทยสภา ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม สร้างโปร่งใสเป็นธรรมให้สังคมสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ