กรมอนามัย เผยเชื้อราจากขี้นก เสี่ยงทำปอดอักเสบ แนะเด็กเล็ก-ผู้สูงวัย เลี่ยงใกล้กรงสกปรก

ข่าวทั่วไป Monday July 28, 2014 09:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมอนามัย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะเด็กและผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้กรงนกหรือโรงเลี้ยงนกที่สกปรก ไม่ทำความสะอาด มีมูลนกสะสม หวั่นหายใจเอาเชื้อราเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ เข้าสู่ร่างกาย ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปอด พร้อมแนะวิธีป้องกัน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า หนึ่งในเชื้อก่อโรคที่กำลังน่าห่วงและพบในมูลนกพิราบในประเทศไทย ได้แก่ เชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) พบมากในมูลนกตระกูลนกพิราบและนกอื่น ๆ ซึ่งมูลนกหลายชนิดเป็นแหล่งเพาะเชื้อรานี้ได้ดีในสภาวะชื้นและแสงแดดส่องไม่ถึง จากการสำรวจจะพบว่าเชื้อราชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส และหากอุณหภูมิสูงกว่านั้นหรือความชื้นน้อยกว่าก็จะตรวจพบเชื้อราชนิดนี้ได้น้อยลง ประชาชนสามารถรับเชื้อคริปโตคอคคัสนี้ได้ด้วยการหายใจ เอาสปอร์หรือตัวเชื้อราเข้าไปในปอด โดยทั่วไปเชื้อราและสปอร์จะมีน้ำหนักเบาและถูกพัดพาให้กระจายไปในอากาศได้ง่าย หากเข้าใกล้บริเวณที่มีรังนก หรือเป็นโรงเรือนเลี้ยงนก หรืออยู่ใกล้กรงนกที่ไม่ได้ทำความสะอาด มีมูลนกสะสมจำนวนมาก ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะหายใจเอาเชื้อราหรือสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า จากการวินิจฉัยทางการแพทย์พบว่าเชื้อนี้จะมีผลที่ปอดก่อนเป็นอันดับแรกและ ลามไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายโดยผ่านทางกระแสเลือด การเกิดโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ คนที่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะมีอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ และอาการปวดจะเพิ่มขึ้นร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียน ปวดขมับ เบ้าตา บางครั้งอาจถึงอาเจียน ไอและมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ น้ำหนักลด อาจมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ในบางรายจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อจะฟักตัว ในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องจะแสดงอาการออกมา โดยเชื้ออาจพบได้มากในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติและรักษาได้ยากกว่า การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลาระยะหนึ่ง และรักษาตามอาการอื่น ๆ “ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำควรจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อดังกล่าว และรู้จักป้องกันตัวเอง เช่น สวมผ้าปิดปากและจมูกเวลาทำความสะอาดอาคารเก่าหรือบริเวณที่พบนกอาศัยอยู่ เพราะอาจเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคจากมูลนกปนเปื้อน และล้างมือทุกครั้งหลังทำความสะอาด นอกจากนี้การไล่นกจากที่อยู่อาศัยสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ กั้นตาข่าย ตะแกรง หรือขึงเอ็นกีดขวางเพื่อไม่ให้นกทำลายแล้วเข้ามาอาศัยในอาคารได้ หรือการไล่นกด้วยกลิ่น เช่น กลิ่นสกัดจาก สารในเม็ดองุ่น หรือใช้สารเคมีที่มีผลโดยตรงกับเยื่อบุหลอดลมของนก ได้แก่ การบูร พิมเสน ลูกเหม็น ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านกระบวนการผลิตด้วยระบบนาโนเทคโนโลยี ใช้พ่นเพียงครั้งเดียวแต่สามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนานหลายเดือน เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ