ธ.ก.ส.ห่วงชาวนาไม่ได้รับสิทธิลดดอกเบี้ย 3 % เร่งให้ลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอ พร้อมหนุนทำประกันภัยลดความเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 28, 2014 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ธ.ก.ส. ธ.ก.ส. เผยมีเกษตรกรขอใช้บริการสินเชื่อเพื่อนำไปปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 แล้ว 2 ล้านราย แต่ยังไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ชี้อาจทำให้เสียสิทธิในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 3 ตามนโยบายลดต้นทุนการผลิตของ คสช. แนะเกษตรกรเร่งดำเนินการ พร้อมหนุนเกษตรกรลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ ด้วยการทำประกันภัยพืชผล นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส. )เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้มีมติให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ลงร้อยละ 3 ต่อปี นั้น ปรากฏว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาขอใช้บริการสินเชื่อผ่าน ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อนำไปเพาะปลูกข้าวแล้วจำนวน 2 ล้านราย ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวถือเป็นกลุ่มที่จะได้รับสิทธิในการลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตามมาตรการในครั้งนี้ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เกษตรกรยังขาดความเข้าใจในการใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนสำคัญคือเกษตรกรต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอ หรือเกษตรจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นจะรวบรวมข้อมูลไปยังกรมส่งเสริมการเกษตร ก่อนจะส่งรายชื่อผู้ได้รับสิทธิมาให้กับ ธ.ก.ส. ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. และที่ไม่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. รวมไปถึงเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ เร่งไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับหน่วยงานข้างต้น เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราเดิมที่เกษตรกรเคยกู้ลงร้อยละ 3 ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ในส่วนของมาตรการประกันภัยนาข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 7,000 ราย จำนวนพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ จากเป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ ซึ่งมาตรการประกันภัยถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยอัตราค่าเบี้ยประกันภัยจะแบ่งตามลำดับความเสี่ยงของพื้นที่ตั้งแต่ 129.47 - 510.39 บาท/ไร่ แต่เกษตรกรจะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 60-100 บาท/ไร่ เท่านั้น เพราะที่เหลือรัฐจะเป็นผู้อุดหนุนแทนเกษตรกร นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังร่วมอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยอีกไร่ละ 10 บาท ในกรณีเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทำให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 50-90 บาท/ไร่ ซึ่งการประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจาก น้ำท่วม ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บและไฟไหม้ โดยได้รับชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ ยกเว้นศัตรูพืชและโรคระบาด ได้รับการชดเชย 555 บาทต่อไร่ ดังนั้นในกรณีประสบภัยเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐไร่ละ 1,113 บาท/ไร่ เมื่อรวมกับประกันภัยที่เกษตรกรซื้อไว้อีก 1,111 บาทต่อไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรได้รับเงินชดเชยไร่ละ 2,224 บาท ช่วยให้ เกษตรกรมีต้นทุนที่สามารถเริ่มต้นการเพาะปลูกในรอบถัดไปได้โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินเพิ่ม อันเป็นการบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จึงขอเชิญชวนเกษตรกรใช้สิทธิตามมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลและซื้อประกันภัย ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2557 ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ