พระจอมเกล้าลาดกระบัง แนะทางออกเกษตรกรไทย สู่การเป็นศูนย์การเกษตรอัจฉริยะของอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 29, 2014 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน สู่การเป็นศูนย์การบริหารการเกษตรอัจฉริยะของอาเซียน อันได้แก่ 1. สนับสนุนการสร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการทางธุรกิจเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การใช้ปัจจัยนำเข้า การผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย 2. สนับสนุนการสร้างความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) 3. การรักษาความมั่นคงทางการเกษตรและอาหาร – มีการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสุขภาวะที่ดี ขณะที่มีระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเหมาะสมกับฐานทรัพยากร 4. การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้อง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ สิ่งเหล่านี้ แม้จะมีกลไกขององค์กรทางธุรกิจเกษตรที่เป็นเจ้าภาพหลักอยู่ แต่ในบทบาทของสถาบันการศึกษานั้น จะเป็นฝ่ายสนับสนุนในการจัดหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการในมิติต่าง ๆ ข้างต้น โดย ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการบริหารและจัดการธุรกิจเกษตร ให้ความรู้แนวโน้มความต้องการของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอันจะเป็นที่ต้องการทั้งในภาคการบริโภค การผลิต ทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลก เน้นการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต รวมถึงการให้ความรู้ การอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถหามาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตนได้ และสร้างมาตรฐานในการดำเนินงานการเกษตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสอดคล้องกับมาตรฐานของตลาดโลก พร้อมกันนี้ สถาบันได้แนะนำหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการบริหารจัดการธุรกิจเกษตรอย่างชาญฉลาด โดยเปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี คือ สาขาบริหารธุรกิจเกษตร ระดับปริญญาโท คือ สาขาการจัดการธุรกิจเกษตร และระดับปริญญาเอก คือ สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม มีจุดเด่นคือ การนำโจทย์ในธุรกิจมาเป็นประเด็นหลักสำหรับศึกษาและทำวิจัย รวมถึงการสัมมนาองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่การเกษตรกว่า 200 ล้านไร่ โดยอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโต 5-10% ต่อเนื่องทุกปี อันเนื่องมาจากผลิตให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการของตลาดโลก โดยจากข้อมูลปี 2555-2557 ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และ 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็น 3 ภูมิภาคหลักของการส่งออกจากไทย สำหรับนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิระเสกข์ ตรีเมธสุนทร คณบดีวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก อาทิ ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 200,000 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประเทศเวียดนามเป็นผู้ผลิตและส่งออกกาแฟได้เป็นอันดับสอง เป็นต้น ทั้งนี้ จากวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ราคาผลิตผลทางการเกษตรผันผวน ทำให้เกษตรกรไทยมีความสนใจและหันมาเพาะปลูกพืชพลังงานทดแทน แทนการเพาะปลูกพืชสำหรับการบริโภค เนื่องด้วยใช้ต้นทุนเท่ากันหรือต่ำกว่า แต่มูลค่าสินค้าสูงกว่า และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก อาทิ การปลูกยางพารา เนื่องด้วยราคายางพาราที่สูงกว่า และได้ผลผลิตตลอดทั้งปี แม้จะใช้ระยะเวลาในการปลูกนาน แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าที่จะได้รับนับว่าคุ้มค่ากว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ อีกทั้งการประกันราคาสินค้า ทำให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในราคาและหันมาปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอ้อยก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เกษตรกรหันมาเพาะปลูกเป็นอย่างมาก เพราะการปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวได้ 3 – 4 ปี และใช้ประโยชน์จากอ้อยได้อย่างหลากหลาย ทั้งผลิตเป็นน้ำตาล ชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลก็สามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน ทั้งนี้ในประเทศไทยมีเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกว่า 200 ล้านไร่ โดย 6 อันดับพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรของไทย ตั้งแต่ปี 2555 – 2557 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิระเสกข์ เผยแนวคิด 4 ประการ ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย รวมถึงเกษตรกรไทย ดังนี้ 1. เร่งส่งเสริมให้ความรู้ด้านการบริหารและจัดการธุรกิจเกษตรให้ กับเกษตรกร ที่ปัจจุบันมีกว่า 20 ล้านคน เพื่อสร้างแนวคิด และแนวทางในการบริหารจัดการให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการและดำเนินการทำเกษตรกรรมได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล 2. การตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบตลาด ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการของของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอันจะเป็นที่ต้องการทั้งในภาคการ บริโภค การผลิต ทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลก 3. เน้นการพัฒนาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต 4. สร้าง มาตรฐานในการดำเนินงานการเกษตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสอดคล้องกับมาตรฐานของตลาดโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิระเสกข์ กล่าวถึงภาพรวมของการบริหารจัดการภาคการเกษตรในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีพื้นที่การเกษตรรวมมากกว่า 1000 ล้านไร่ โดยทั้งภูมิภาคมีพืชเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใกล้เคียงกัน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม มะพร้าว ยางพารา ฯลฯ โดยในอนาคตโซนประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นกลุ่มประเทศสำคัญในการเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่สำคัญลำดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจึงมีความต้องการที่จะใช้บุคลากรด้านความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อม และศักยภาพสูงสุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยจึงควรเตรียมความพร้อมสู่การเป็นศูนย์การเกษตรอัจฉริยะของอาเซียน เพื่อเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านการบริหาร จัดการ การค้า การวิจัย ฯลฯ เกี่ยวกับการเกษตร โดยคาดว่าบุคคลากรด้านการบริหารการเกษตรจะเป็นที่ต้องการในตลาดอาเซียนอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและประชากรโลกที่มีจำนวนกว่า 7,200 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 8,100 ล้านคน ภายใน 10 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน วิทยาลัยการบริหารและจัดการ สจล. ได้เปิดสอนทั้งระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในระดับปริญญาตรี คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ แขนงวิชาบริหารธุรกิจเกษตร และในระดับปริญญาโท คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ แขนงวิชาการจัดการธุรกิจเกษตร และปริญญาเอก คือ สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่ผลิตผู้ประกอบการทางธุรกิจเกษตรไปสู่ตลาดแรงงานแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ หลักสูตรเหล่านี้เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านสาขาการเกษตรเข้ากับสาขาการบริหารธุรกิจ ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป หลักการจัดการผลผลิต การจัดการองค์กรธุรกิจ การวิจัย การวางแผนธุรกิจเกษตรเชิงบูรณาการ ตลอดจนการจัดการทางด้านการตลาด การส่งออกและการวิเคราะห์ความเสี่ยงในธุรกิจเกษตร เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เรียนจะได้ศึกษารายวิชาพื้นฐาน และในรายวิชาที่เกี่ยวข้องเฉพาะทาง อาทิ การบริหารธุรกิจเกษตร การจัดการตลาดธุรกิจเกษตร ระบบสารสนเทศทางธุรกิจเกษตรและการวิจัยธุรกิจเกษตร ฯลฯ โดยการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผ่านคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัยประยุกต์ร่วมกับการเรียนการสอน รวมถึงการเตรียมความพร้อมทักษะทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนให้กับนักศึกษา โดยที่ผ่านมา ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตออกสู่ภาคอุตสาหกรรม กว่า 500 คนต่อปี ตลอดจนตั้งเป้าพัฒนาการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้แก่เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมปีละ 50 – 100 งานวิจัย เพื่อสอดคล้องกับแนวคิดของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่มุ่งหวังพัฒนาบุคลากร งานวิจัย ให้เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ตามแนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิระเสกข์ กล่าวสรุป สำหรับ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ