แพทย์เตือนเฝ้าระวัง “ไวรัสอีโบลา” เชื้อไวรัสมรณะระบาดจากคนสู่คน

ข่าวทั่วไป Friday August 1, 2014 13:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--Media เป็นข่าวใหญ่โตที่ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อยกับเชื้อไวรัสมรณะ ที่คร่าชีวิตผู้คนชาวแอฟริกาตะวันตกไปหลายร้อยชีวิตในเวลาไม่นาน “เชื้อไวรัสอีโบลา” หรือชื่อในภาษาอังกฤษ "ซาร์อี อีไบลาไวรัส" (Zaire ebolavirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มโรคไข้เลือดออกชนิดหนึ่งแต่มีความรุนแรงกว่ามาก สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วงและต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 60 – 90 เลยทีเดียว หากไม่รีบตื่นตัวและเฝ้าระวังกันอย่างจริงจัง เพราะในระยะแรกอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสนั้นจะคล้ายกับอาการป่วยด้วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคท้องร่วง โรคไข้หวัด หรือไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไม่ทันได้ระวังตัว จนอาการลุกลามไปจนถึงขั้นรุนแรงแล้ว เชื้อไวรัสอีโบลานับเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงโรคหนึ่งก็ว่าได้เพราะเป็นการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน หลังจากได้รับเชื้อไวรัสนั้นจะมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 2 – 21 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ตามด้วยอาการอาเจียน ท้องร่วง มีผื่นนูนแดงตามตัว และในบางรายที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พบว่าจะมีอาการเลือดออกง่ายทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เลือดไหลไม่หยุด มักเกิดร่วมกับอาการระบบอวัยวะภายในล้มเหลวส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ในที่สุด แพทย์หญิงกรุณา อธิกิจ อายุรแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท แนะนำว่า สำหรับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าทางการแพทย์ยังไม่มียาหรือวัคซีนจำเพาะที่ใช้ป้องกันหรือรักษาโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ ทำได้เพียงการรักษาไปตามอาการเพื่อประคับประคองเท่านั้น ในส่วนของการติดต่อจากคนสู่คน จะติดต่อผ่านทางการสัมผัสหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ อาทิ น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ เลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ ตลอดจนน้ำอสุจิ แต่ยังไม่พบว่าเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อทางอากาศที่ใช้หายใจร่วมกัน (Airborne) ดังนั้นผู้ที่กำลังกังวลใจเรื่องการโดยสารเครื่องบินร่วมกับผู้ติดเชื้อนั้นโอกาสของการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ” สำหรับประเทศไทยยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสนี้ และโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อจะไม่สามารถเดินทางได้จากสภาพร่างกาย ทำให้โอกาสของการแพร่เชื้อข้ามทวีปมีน้อยลง แต่อย่างไรก็ดีแพทย์ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มสำหรับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่าถึงแม้จะยังไม่พบเชื้อไวรัสนี้ในไทยแต่ก็ไม่ควรประมาท ควรหมั่นดูแลสุขอนามัยให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดหากมีความจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และถ้าพบว่าตนเองมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้าโดยไม่มีการตรวจโรค หรือการประกอบอาหารที่ทำจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และงดการเดินทางไปยังประเทศแอฟริกาตะวันตกที่กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงนี้จะดีที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ