คร. ประกาศเตือนโรคที่มากับน้ำท่วม ทั้งโรคติดเชื้อ สัตว์มีพิษ จมน้ำ และไฟฟ้าดูด

ข่าวทั่วไป Monday August 25, 2014 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์ เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อาจทำให้ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมฉลับพลันในบางพื้นที่ของประเทศไทย กรมควบคุมโรคจึงออกประกาศเตือนโรคที่มากับน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตนเองจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ รวมทั้งจัดการสิ่งแวดล้อมรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะโรค กำจัดขยะและแอ่งน้ำขัง หากป่วยมีไข้สูงเกิน 2 วันไม่ลดควรรีบพบแพทย์ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อาจทำให้ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมฉลับพลันในบางพื้นที่ของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยอาจเกิดการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ หรือกระทั่งเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรคจึงออกประกาศเตือนโรคที่มากับน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 โรคติดเชื้อ 7 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง โรคตาแดงโรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ และโรคไข้ฉี่หนู บางโรคอาจมีความรุนแรงน้อย ได้แก่ โรคผิวหนัง อาการที่พบเช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้นซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดหรือไม่แห้งเป็นเวลานาน บางโรคมีอาการรุนแรงและทำให้เสียชีวิต เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปีนี้พบมีการระบาดรุนแรงกว่า 2-3 ปี จากที่ไม่เคยพบผู้เสียชีวิต ล่าสุด 8 เดือนแรกของปี มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 60 ราย จึงขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และกลุ่มผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวานหลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ให้รีบไปรับวัคซีนได้ฟรีที่สถานพยาบาลภาครัฐ 2. โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อหลายชนิด อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ก็ได้ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ในเด็กถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยเห็นชายโครงบุ๋ม กระสับกระส่ายหรือซึม ต้องรีบนำมาพบแพทย์ด่วน 3. โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อสัตว์สู่คน โดยเชื้อโรคนี้จะออกมากับปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู วัว ควาย เป็นต้น แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้ฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ ผู้ที่เดินลุยน้ำท่วมเป็นต้น อาการเจ็บป่วยมักเริ่มต้นด้วยไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องและโคนขา โรคนี้ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ กลุ่มที่ 2 คือ การบาดเจ็บที่เกิดจากสัตว์ แมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู ปลิง แมลงและสัตว์อื่นๆ เป็นต้น เพราะสัตว์เหล่านี้จะหนีน้ำท่วมขังขึ้นมาหลบบนที่สูง ถ้าถูกงูหรือสัตว์พิษกัด ต้องตั้งสติให้มั่น ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามกรีดแผล ห้ามดูดแผลห้ามใช้ไฟหรือไฟฟ้าจี้ที่แผล ห้ามประคบน้ำแข็ง ห้ามพอกสมุนไพร ห้ามดื่มสุรา แต่ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่ใกล้ที่สุด และ กลุ่มที่ 3 อุบัติเหตุ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม โดยเฉพาะประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม พักอาศัยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณที่น้ำท่วมขัง ให้ขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูง จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด อย่าปลอดให้อยู่ตามลำพัง ถ้าเดินทางควรเดินทางเป็นกลุ่ม และสวมชูชีพหรือเตรียมอุปกรณ์อื่นที่ช่วยในการลอยตัวในน้ำ เป็นต้น “ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ จัดการสิ่งแวดล้อมรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะโรค กำจัดขยะและแอ่งน้ำขัง หากป่วยมีไข้สูงเกิน 2 วันไม่ลดควรรีบพบแพทย์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ