“การบริโภคในประเทศชะลอตัว – ยอดขายในประเทศปรับตัวลดลง - น้ำท่วม” ปัจจัยฉุด ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือน ส.ค. มาอยู่ที่ระดับ 88.7 ชี้เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 17, 2014 10:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2557 จำนวน 1,132 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 26.9, 39.6 และ 33.5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.5, 11.9, 12.6, 15.5 และ 13.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.3 และ 17.7 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 89.7 ในเดือนกรกฎาคม เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ประกอบกับในหลายพื้นที่ของประเทศเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวลดลงจาก 103.1 ในเดือนกรกฎาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคม ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกรฎาคม โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 86.7 ลดลงจากระดับ 88.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 102.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 87.1 ลดลงจาก 88.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.6 เพิ่มขึ้นจาก 102.6 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 92.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมก๊าซและอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7 ลดลงจากระดับ 104.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 89.6 ลดลงจากระดับ 92.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคกลางในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เกิดจากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อ ยอดขายในประเทศ และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวลดลง ในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เนื่องจากรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศลดลง, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ สินค้าประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรมียอดขายลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมียอดขายในประเทศลดลงเช่นกันเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง ขณะเดียวกัน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.1 ลดลงจากระดับ 103.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 85.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงของค่าดัชนีฯ ในภาคเหนือ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทำให้เป็นอุปสรรต่อการขนส่งสินค้าและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs และต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือด้วย สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก เนื่องจากสินค้าประเภทสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์ภาชนะเซรามิค มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปลดลง ด้านหัตถอุตสาหกรรม สินค้าประเภทหัตถกรรมฝีมือต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วง low season มีนักท่องเที่ยวลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมสมุนไพร มียอดคำสั่งซื้อเครื่องสมุนไพรจากสปาลดลง เนื่องจากจากผู้ประกอบการมีสต๊อกสินค้าสูง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 94.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ ได้แก่ การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในโครงการก่อสร้าง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างและการซ่อมแซมถนนในหลายพื้นที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และปูนสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง หินลาย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืน ผ้าลูกไม้ มียอดการส่งออกไปประเทศ สหรัฐอเมริกา ยุโรป เวียดนาม และพม่า เพิ่มขึ้น เนื่องจากผ้าผืนไทยเป็นที่นิยม ขณะที่สินค้าประเภทเสื้อยืด ชุดชั้นใน เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดคำสังซื้อและยอดขายจากประเทศญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 ลดลงจากระดับ 105.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออก มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 95.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.6 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ภาคตะวันออกเป็นเพียงภาคเดียว ที่ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งการค้าชายแดนมีการขยายตัวต่อเนื่องส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนนี้ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์ประเภทโซดาไฟ มียอดการผลิตและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี สินค้าประเภทเม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศในอาเซียน, อุตสาหกรรมพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากผลิตภัณฑ์ประเภทถุงพลาสติก กล่องอาหาร ขวดพลาสติก เป็นต้น ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8 เพิ่มขึ้นจาก 101.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ด้าน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 75.9 ลดลงจากระดับ 78.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงของค่าดัชนีฯ ในภาคใต้ ได้แก่ การขาดแคลนวัตถุดิบประเภทสัตว์น้ำยังเป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ขณะที่ปัญหาการตกต่ำของราคายางยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว กระทบต่อยอดขายสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากยอดการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นประกอบด้วย ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และยางพาราอื่นๆ จากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ลดลง ด้านอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ มียอดการส่งออกไม้ยางพารางแปรรูป ไปประเทศจีน มาเลเชีย อินโดนีเชีย ลดลง ประกอบกับยอดสั่งซื้อไม้แปรรูปจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลงจากระดับ 100.6 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนสิงหาคม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนกรกฎาคม ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นจากในเดือนกรกฎาคม กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 89.9 ลดลงจาก 90.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.4 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 83.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 82.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ , อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.9 ลดลงจากระดับ 101.6 ในเดือนกรฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2557 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนสิงหาคมนี้ คือ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการให้มีการปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการSMEs ออกมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องผู้บริโภคและผู้ประกอบการในประเทศรวมถึงช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ