สวรส. จับมือ วช. พัฒนานักจัดการงานวิจัยสู่ระบบ

ข่าวทั่วไป Tuesday September 23, 2014 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จากแนวคิดการปฏิรูประบบวิจัย เพื่อเป้าหมายการนำความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพและการพัฒนาประเทศ ด้วยเเนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จัดโครงการ “พัฒนาและจัดอบรมหลักสูตรนักจัดการงานวิจัย” ขึ้น โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรวิจัยระดับชาติและสถาบันการศึกษา อาทิเช่น ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย จาก สกว. รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวนิก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ รวมทั้งผู้บริหารเเละตัวแทนจาก วช. สวทช. สวก ฯลฯ ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักวิจัยที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 160 คน ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2557 ณ โรงแรมมารวย การ์เดน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านบริหารจัดการงานวิจัยแบบมืออาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ที่จะมาจัดการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้องค์ความรู้ไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การปฏิรูประบบวิจัยในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรจึงเป็นประเด็นที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความสำคัญ โดยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) จัดให้มีโครงการ “พัฒนาและจัดอบรมหลักสูตรนักจัดการงานวิจัย” ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้และสมรรถนะของผู้จัดการงานวิจัย “โจทย์สำคัญคือ บุคลากรที่จะมาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการงานวิจัย จะต้องเข้าใจและมีความรู้กว้างขวางครอบคลุมทุกกระบวนการตั้งแต่ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเริ่มต้นในการพัฒนาโจทย์วิจัย จนถึงความรู้หรือองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวข้องกับกระบวนการนำวิจัยไปใช้ประโยชน์เมื่อสิ้นสุดงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจะเป็นส่วนสำคัญของการผลักดันงานวิจัยให้สู่เป้าหมาย รวมทั้งทักษะความสามารถในการดำเนินการจัดการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ตอบเป้าหมายของแหล่งทุนวิจัยและความต้องการของประเทศ” ผอ.สวรส. กล่าว พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า กระบวนและองค์ความรู้สำคัญๆในการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างมืออาชีพได้ถูกออกแบบเละรวบรวมไว้ในหลักสูตร ครอบคลุมกระบวนการก่อนทำวิจัย เช่น การกำหนดประเด็น โจทย์การวิจัย เป้าหมายการใช้ประโยชน์ กระบวนการระหว่างทำวิจัย เช่น การกำกับติดตามความก้าวหน้า การสื่อสารกับผู้ใช้ผลงานวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย และกระบวนการหลังการทำวิจัย เช่น การจัดเวทีนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อใช้ประโยชน์งานวิจัย การย่อยผลงานเพื่อการสื่อสารสาธารณะ และการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงระบบหรือนโยบาย เป็นต้น ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญๆ หลักสูตร เช่น การเขียนสรุปรายงานการวิจัย เทคนิคการคัดกรองข้อเสนอโครงการวิจัยและการคัดเลือกนักวิจัย ความจำเป็นที่ต้องมีการบริหารงานวิจัย การวิจัยกับการเอาไปใช้ประโยชน์จากหิ้งสู่ห้าง (Policy advocacy & Policy brief) ประสานอย่างไรได้ใจแหล่งทุน ประสบการณ์การบริหารจัดการงานวิจัย การบริหารข้อมูลโดยใช้ระบบสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จริยธรรมการวิจัยเละกฎระเบียบที่ควรรู้ การจดสิทธิบัตรและการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การติดตามประเมินผลการวิจัย และการประกันคุณภาพงานวิจัย ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.ด้านยุทธศาสตร์วิจัยเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การจัดการงานวิจัยเป็นทักษะที่จำเป็นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งหากจะวัดการจัดการว่าดีหรือไม่อย่างไรนั้น สามารถดูได้จากผลลัพธ์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้นว่าสามารถนำใช้ประโยชน์หรือตอบปัญหาได้ตรงกับความต้องการกับผู้ใช้งานหรือประเทศได้อย่างไร ทั้งนี้ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในผู้จัดการงานวิจัยส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถจัดการผลงานวิจัยได้ถึงขั้นที่ควรจะเป็น “เรื่องนี้ยากที่จะหาคำตอบว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เสมือนการถามว่าเด็กเรียนเก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่ครูหรือเพราะตัวเด็กเอง ซึ่งสามารถมองได้สองด้าน แต่ทั้งนี้หากยึดหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี เช่น การพัฒนาโจทย์วิจัยจะต้องนำมาตอบปัญหาของประเทศได้ การเข้าใจปัญหาเพื่อพัฒนากรอบประเด็นวิจัยของชุดโครงการหรือพัฒนา Proposal ที่มีคุณภาพ มีทีมนักวิจัยที่เหมาะสม การใช้เวทีประชุมเป็นเครื่องมือ การคำนึงถึงผู้ใช้งาน การสังเคราะห์โจทย์ที่แหลมคม เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งจะทำให้โครงการวิจัยมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น” ดร.สีลาภรณ์ กล่าว ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รอง ผอ.ฝ่ายบริหาร สวรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสัดส่วนนักวิจัย/ผู้จัดการงานวิจัยในประเทศไทยมีเฉลี่ย 3.3 : 10,000 คนต่อประชากร ซึ่งถือว่าน้อยมากสำหรับระบบ ที่ผ่านมา สวรส. มีความพยายามในการสร้างคนทำงานวิจัยและนักบริหารจัดการงานวิจัยป้อนเข้าสู่ระบบสุขภาพ เช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สวรส. ได้เริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรนักวิจัยเขตสุขภาพ โดยร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ ซึ่งสามารถสร้างนักวิจัยที่มีความรู้จากการอบรมจำนวน 20 ราย ที่ขณะนี้ได้นำความรู้ไปใช้ดำเนินการวิจัย โดยอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่คาดว่าในต้นปี 2558 จะสามารถผลิตผลงานวิจัยจากพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ และมานำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายได้ต่อไป โดยหลักสูตรการพัฒนาและอบรมนักจัดการงานวิจัยในครั้งนี้ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนานักวิจัยที่จะเกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบสุขภาพต่อไปเช่นกัน
แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ