สพร. ทึ่ง “3 Gen Z ท้าเปลี่ยน” คว้ารางวัล “Young Muse Project 5” เตรียมสร้างแลนด์มาร์ค “ปรับ ปั้น ปลุก” พิพิธภัณฑ์ไทย ไฉไลกว่าเดิม

ข่าวทั่วไป Friday October 24, 2014 12:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ประกาศผลการคัดเลือก 3 สุดยอดไอเดียแจ้งเกิดใน “โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5” หรือ “Young Muse Project 5” ในหัวข้อ Wow!! Project “เด็กกล้าท้าเปลี่ยน : ปรับ ปั้น ปลุก พิพิธภัณฑ์ไทย ไฉไลกว่าเดิม” เตรียมสร้างแลนด์มาร์คผ่านแผนงานสุดบรรเจิดจาก 3 ทีมชนะเลิศ ได้แก่ Bangkok Dolls Museum หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และมิวเซียมสยาม ให้ไฉไลกว่าเดิม โดยการตัดสินแผนงานพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในรอบชนะเลิศของโครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5 ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสาขา นำโดย คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.), คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์, คุณปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการ, คุณต่อ สันติสิริ นักสร้างสรรค์งานโฆษณา และ คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ นักคิดนักเขียน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนแต่ละทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้นำเสนอแนวคิดและแนวทางการพัฒนาผลงาน พร้อมตอบข้อซักถามของคณะกรรมการในแง่มุมต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยกลุ่มเยาวชนทั้ง 3 ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท และโล่ประกาศเกียรติคุณ โครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ 5 ประกอบด้วย ทีม “ต่อไป” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง นำเสนอแนวทางการปรับปรุง “Bangkok Dolls Museum” พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาไทยที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ ทีม “หัดบิน” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำเสนอแนวทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” และ ทีม “เด็กพี่เทพ เมพ ขิง ขิง” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ที่ “มิวเซียมสยาม” คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ กล่าวชื่นชมผลงานของเยาวชนทุกทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบบสุดท้ายว่า “ทุกทีมมีทักษะและความสามารถในการนำเสนอที่ดี โดยเฉพาะคะแนนในด้านความคิดสร้างสรรค์แต่ละทีมได้คะแนนค่อนข้างสูงมาก แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นก็คือความเป็นไปได้ในการดำเนินงานทั้งปรับ ปั้น ปลุก ตรงนี้เองที่ทำให้คะแนะของแต่ละทีมมีความแตกต่างลดหลั่นกันลงไป” คุณปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการ กล่าวว่า ทุกทีมที่ผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้ายล้วนการบ้านเพื่อหาวิธีตอบโจทย์ได้อย่างดีเยี่ยม แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนักถึงคือเรื่องเนื้อหาข้อมูล เพราะถือเป็นหัวใจของการทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ “การทำงานด้านพิพิธภัณฑ์จะต้องมอง Content เป็นแก่น แล้วจึงหาวิธีการจัดการกับ Content เหล่านี้ด้วยเครื่องมือ หรือวิธีการต่างๆ ให้มีความน่าสนใจ และต้องดูถึงผลลัพธ์ที่ผู้ชมจะได้รับเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะช่วยทำให้เรื่องราวหรือนิทรรศการที่ต้องการนำเสนอประสบความสำเร็จได้” ด้าน คุณต่อ สันติสิริ นักสร้างสรรค์งานโฆษณา ได้ให้คำแนะนำกับทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการว่า “การนำเสนอแนวคิดและผลงานของแต่ละทีมนั้นทำได้ดีมาก แต่ทุกคนก็ยังมุ่งสร้างสรรค์แนวคิดภายใต้ศาสตร์หรือวิชาที่ตนเองศึกษามาในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป “การทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมองหลายๆ มุม นอกเหนือไปจากความรู้ที่ตนเองมี และต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ปลายทางของพิพิธภัณฑ์นั่นก็คือ ผู้ชมจะได้อะไรกลับไป ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ถ้ามองไปถึงผลที่ผู้ชมจะรับด้วย ก็จะช่วยให้ผลงานนั้นมีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น” ปิดท้ายด้วย คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ นักคิดนักเขียน ที่กล่าวชื่นชมทุกผลงานที่ส่งเข้ามาคัดเลือกในโครงการนี้ว่า เป็นแผนงานที่น่าสนใจแทบทุกโครงการ สะท้อนถึงความตั้งใจทำงาน และความคิดสร้างสรรค์แสนบรรเจิดของเด็ก gen z ที่มาแรงตั้งแต่อายุยังน้อย “ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ไม่ค่อยให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราทุกคนต้องมาช่วยกัน ด้วยการเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยกันบอกกล่าวให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้ถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ รู้ว่ามีพิพิธภัณฑ์ดีๆ อยู่ในประะเทศนี้อีกมากมาย” นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) กล่าวกับเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกว่า ทักษะที่สำคัญแห่งอนาคตไม่ได้หมายความถึงทักษะหรือความชำนาญในด้านที่เรียนมาเพียงด้านเดียว แต่ทักษะที่หลากหลายอันเกิดจากประสบการณ์และการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถยืนหยัดได้ในอนาคต “บนเส้นทางแห่งงานด้านพิพิธภัณฑ์ ที่คนรุ่นใหม่กับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติจะได้ร่วมก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กันนั้น สิ่งที่เยาวชนทุกคนต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาพิพิธภัณฑ์พร้อมกับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยเสียใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ๆ น่าเบื่ออีกต่อไป เพราะพิพิธภัณฑ์เป็นสะพานที่จะช่วยเชื่อมโยงรากเหง้าของตนเอง และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้มาใช้ในการตัดสินใจและขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ในอนาคต อันเป็นจุดสำคัญในการตัดสินจุดแพ้หรือชนะของเราได้ และทักษะหนึ่งที่จำเป็นมากในอนาคตคือความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์อย่างแหลมคมจะมีความสำคัญมากที่สุด ดังนั้นจึงอย่าหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไป” ผอ.ราเมศกล่าวสรุป ขั้นตอนต่อจากนี้จะเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาแผนงานพิพิธภัณฑ์ให้เป็นจริงภายใต้งบประมาณทีมละ 200,000 โดยแหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง จาก 3 ทีมเยาวชนนักสร้างสรรค์ ได้แก่ Bangkok Dolls Museum, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และมิวเซียมสยาม จะเป็นการสร้างแลนด์มาร์คแห่งการเรียนรู้ครั้งสำคัญของวงการพิพิธภัณฑ์ไทย ภายใต้การนำของ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่มุ่งสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด Discovery Museum ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในยุคสังคมแห่งการเรียนรู้.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ