สถาบันอาหาร รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทย ม.ค.-ส.ค 57

ข่าวทั่วไป Friday October 24, 2014 13:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. พบคนไทยนิยมบริโภคสินค้านำเข้ากลุ่มผลไม้ แอปเปิ้ล ส้ม องุ่นสดมากขึ้น ทั้งจากจีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.79 ชี้อาจกระทบผลไม้ไทยล้นตลาดช่วงผลผลิตออกมาก ด้านส่งออกภาพรวมเติบโตร้อยละ 15.48 มีมูลค่าราว 695,583.91 ล้านบาท ไก่แปรรูปขึ้นแท่นส่งออกอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออกถึง 50,189.29 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 32.12 ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.- ส.ค.) พบว่า การนำเข้าวัตถุดิบและอาหารของไทยมีมูลค่ารวม 322,104.39 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 27.12 ปริมาณนำเข้า 11.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 29.60 เฉพาะเดือนสิงหาคมมูลค่านำเข้า 45,140.24 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 50.83 เมื่อพิจารณาชนิดสินค้าที่นำเข้าในระดับภาพรวมพบว่าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูปโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีมูลค่ามากที่สุดถึง 73,105.73 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.70 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด โดยสินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ สกิปแจ็คแช่แข็ง ปลาทะเลอื่นๆแช่แข็ง ทูน่าครีบเหลืองแช่แข็ง อัลบาคอร์แช่แข็ง และหมึกแช่แข็ง ทั้ง 5 รายการรวมกันมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ กลุ่มสัตว์น้ำ รองลงมาคือกากของเหลือจากการผลิตน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ร้อยละ 19.43เมล็ดถั่วเหลืองเพื่อการผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์ ร้อยละ 10.01 นมผงสำหรับทารก ร้อยละ 9.03 และกลุ่มข้าวสาลีหรือเมสลิน ร้อยละ 5.78 เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มผลไม้มีส่วนแบ่งร้อยละ 5.59 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ช่วง 8 เดือนนี้มีมูลค่านำเข้า 17,994.95 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.79 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าแอปเปิ้ลสดจากประเทศจีนมากกว่าครึ่ง ที่เหลือนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ องุ่นสดนำเข้าจากจีน เปรู อินเดีย ออสเตรเลีย ส้มนำเข้าจากจีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยคนไทยมีแนวโน้มบริโภคผลไม้นำเข้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากระดับราคาที่ลดลงจากอดีตมาก และสามารถซื้อได้ทั่วไป ซึ่งทำให้ผลไม้ในประเทศเองมีคู่แข่งและประสบปัญหาล้นตลาดในบางช่วงที่ผลผลิตออกมาก ในด้านมูลค่าส่งออกอาหาร เดือนสิงหาคม มีมูลค่าส่งออก 110,510 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกับปีที่แล้วร้อยละ 50.83 ทำให้มูลค่าส่งออกรวมสะสม 8 เดือนอยู่ที่ 695,583.91 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 24.55 ล้านตัน อัตราขยายตัวเชิงมูลค่าร้อยละ 15.48 และเชิงปริมาณร้อยละ 12.10 นับเป็นแนวโน้มที่ดี โดยพบว่ามูลค่าส่งออกมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ในสินค้าเกือบทุกรายการ ยกเว้นสตาร์ชจากมันสำปะหลังที่วัตถุดิบไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปที่ไต่ขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ มีมูลค่าส่งออกถึง 50,189.29 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32.12 ในเชิงมูลค่า และร้อยละ 21.92 เชิงปริมาณ มีผลจากปริมาณผลผลิตในประเทศ ช่วงปีนี้ลดลงร้อยละ 3.8 ขณะที่เนื้อไก่เป็นอาหารโปรตีนที่รับประทานง่าย สะดวกราคาถูก ซึ่งพบว่าเนื้อไก่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสำหรับตลาดในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ ประกอบกับการที่ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมานำเข้าไก่สดจากไทย ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับราคาไก่ในประเทศด้วย สัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2556 เป็น 49% ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการส่งออกไก่ไปญี่ปุ่นไม่ถูกจำกัดด้วยโควต้า แนวโน้มอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยในปีนี้น่าจะช่วยผลักดันให้ยอดการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปของกุ้งได้บางส่วน ด้านการค้าอาหารกับ AEC ในช่วง ม.ค.-ส.ค. 2557 นี้ ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารไปยังอาเซียน 5.79 ล้านตัน มูลค่า 151,649.74 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.83 เชิงปริมาณ และร้อยละ 13.83 เชิงมูลค่า ขณะที่ไทยมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากสมาชิกอาเซียนทั้งสิ้น 1.66 ล้านตัน มูลค่า 51,785.44 ล้านบาท ไทยอยู่ในฐานะเกินดุลการค้าอาหารกับอาเซียนทั้งนี้ สินค้าอาหารที่ไทยส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาลจากอ้อย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 11.4 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในช่วง 8 เดือนของปีนี้ โดยมีมูลค่า 17,271.62 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 1.347 ล้านตัน มีอัตราขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่ามากกว่าร้อยละ 800 โดยตลาดหลักคืออินโดนีเซีย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกสินค้าชนิดนี้ในอาเซียน โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับ 2 คือ เครื่องดื่มที่ไม่อัดลมพร้อมสำหรับบริโภคทันทีโดยไม่ต้องเจือจาง เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน ตลาดหลักคือเวียดนาม และเมียนมาร์ มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 46 และ 20.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี รสชาติอร่อย และราคาแข่งขันได้ นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิของไทย ก็เป็นที่ต้องการสำหรับตลาดบนอย่างสิงคโปร์และบรูไน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน เมื่อพิจารณาในตลาดอาเซียนจะพบว่าในช่วงนี้ที่อุตสาหกรรมอาหารในประเทศสมาชิกใหม่อย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปจากไทยอยู่ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องหาแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในด้านอุตสาหกรรมอาหารไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ต่างก็ขยายการลงทุนเข้าสู่ทั้ง 4 ประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความพร้อมด้านการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหาร ดังนั้นหากไทยไม่มองลู่ทางในระยะยาว อาจจะเสียโอกาสในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ