ศาลชี้แล้วคำสั่งห้ามคิดค่าบริการโทรใน-นอกโครงข่าย (On-net/Off-net) ต่างกัน ยังมีผล ‘หมอลี่’ จี้สำนักงาน กสทช. เร่งตรวจสอบ-บังคับค่ายมือถือทำตาม

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday December 9, 2014 12:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กสทช. ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ค่ายมือถือดาหน้าฟ้อง กทช. (ปัจจุบันคือ กสทช.) กรณีออกคำสั่งห้ามคิดค่าบริการแตกต่างกัน ไม่ว่าการโทรในค่ายเดียวกันหรือต่างค่าย ยืนยันคำสั่งดังกล่าวออกชอบด้วยกฎหมายแล้ว “หมอลี่” เผย กรณีดังกล่าวมีการฟ้องหลายคดี และบางคดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของบริษัท แต่ในชั้นนี้เท่ากับศาลชี้แล้วว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ยังคงมีรายการส่งเสริมการขายแบบคิดราคาต่างกันระหว่างการโทรภายในเครือข่ายเดียวกันกับการโทรข้ามค่าย ถือเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งก็ได้ย้ำให้สำนักงาน กสทช. เร่งตรวจสอบและดำเนินมาตรการบังคับแล้ว รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในกรณีที่มีการออกคำสั่งเรื่อง ห้ามเรียกเก็บค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน โดยอ้างเหตุว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และผู้บริโภคเดือดร้อน ถูกจำกัดทางเลือก ทั้งนี้ สาระหลักของคำสั่งดังกล่าวที่มีการออกในยุคของ กทช. ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 คือ ห้ามผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการจัดทำรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่มีการเรียกเก็บค่าใช้บริการโทรคมนาคมจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในโครงข่าย (On-net) และการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างโครงข่าย (Off-net) โดยหากพบว่าผู้ประกอบกิจการรายใดฝ่าฝืน ให้สำนักงาน กสทช. กำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัดต่อไป สำหรับคำพิพากษาของศาลนั้น ได้ชี้ว่า คำสั่งดังกล่าวของ กทช. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนประเด็นผลกระทบและความเสียหายต่างๆ จากการออกคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างนั้นไม่อาจรับฟังได้ โดยศาลชี้ชัดว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบกิจการ และตรงกันข้ามกลับถือเป็นการสนับสนุนให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อหลักการกำกับดุแลค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมอันเป็นบริการสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในการแข่งขันและเข้าถึงบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพมากที่สุด นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือ “หมอลี่” เปิดเผยว่า นอกเหนือจาก AIS แล้ว ความจริงยังมีบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกหลายรายที่ฟ้องคดีต่อศาลว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบและมีผลกระทบก่อความเสียหายต่างๆ นานา โดยที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ยื่นฟ้องมาแล้ว ซึ่งต่อมาทั้งสองบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด ในชั้นนี้จึงถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ผลของคำพิพากษาในเบื้องต้นนี้ก็ยืนยันแล้วว่า คำสั่งของ กทช. ดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ และผู้ประกอบกิจการต้องอยู่ใต้บังคับ “ขณะนี้พบว่ายังคงมีผู้ให้บริการหลายรายออกรายการส่งเสริมการขายบางรายการที่ขัดต่อคำสั่งดังกล่าว โดยที่บางรายมีการโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งด้วย ตั้งแต่ทราบผลพิพากษาของศาลเมื่อเดือนกรกฎาคม ผมจึงได้ทำบันทึกภายในถึงสำนักงาน กสทช. ให้เร่งตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไปแล้ว” กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนกล่าว นายประวิทย์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำสั่งดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ในเรื่องของการมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการใช้บริการโทรศัพท์มือถือในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือต่างกัน และไม่ก่อให้เกิดข้อจำกัดหรือภารถที่ต้องคอยตรวจสอบว่าเลขหมายปลายทางนั้นเป็นเลขหมายที่อยู่ในโครงข่ายโทรคมนาคมเดียวกันหรือไม่ เพราะไม่ว่าโมรหาในโครงข่ายเดียวกันหรือต่างกัน ก็ไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการ นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะในระหว่างผู้ประกอบกิจการด้วยกันเอง หรืออาจมีการบิดเบือนการกำหนดราคาเพื่อสร้างอำนาจผูกขาดในตลาด “ตลาดโทรคมนาคมของไทยมีผู้ประกอบกิจการจำนวนน้อยราย ทำให้เกิดการแข่งขันไม่สมบูรณ์ ยิ่งถ้าหากผู้ประกอบกิจการแต่ละรายมีจำนวนผู้ใช้บริการแตกต่างกัน ผลของการจัดรายการส่งเสริมการขายในลักษณะที่กำหนดค่าบริการในเครือข่ายเดียวกันถูกกว่าการใช้บริการข้ามเครือข่าย ย่อมเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการรายใหม่ๆ ให้ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมได้ ตลาดก็จะยิ่งถูกผูกขาด สุดท้ายฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็คือผู้บริโภค ในฐานะผู้ใช้บริการที่มีทางเลือกจำกัด” นายประวิทย์สรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ