ฟิทช์: กลุ่มธนาคารและพลังงานของไทยเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 16, 2014 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนาประจำครึ่งปีขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับนักลงทุนสถาบัน ในวันนี้ โดยฟิทช์ได้ชี้ประเด็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงได้ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในภาคพลังงานปรับตัวลดลง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินของธุรกิจภาคเอกชนอาจกดดันผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 2558 แม้ว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นแต่อันดับเครดิตของบริษัทไทยส่วนใหญ่น่าจะยังคงมีเสถียรภาพเนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับงบประมาณลงทุนในขณะเดียวกัน สำหรับกลุ่มธนาคารแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะยังคงมีเสถียรภาพ โดยฐานะเงินกองทุนและระดับการสำรองหนี้สูญที่อยู่ในระดับสูงน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ ในงานสัมมนาครั้งนี้ ฟิทช์ได้รับเกียรติจากคุณวิน พรหมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานลงทุนสำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มาเป็นผู้บรรยายรับเชิญในหัวข้อแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งนี้ คุณวินเซนท์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้กล่าวเปิดงานพร้อมกับแนะนำเวบไซท์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย (https://www.fitchratings.co.th/) และยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในปี 2557 จะมีความท้าทายมากแต่อันดับเครดิตของบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังคงมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2558 ในงานสัมมนาดังกล่าว นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงแนวโน้มและความเสี่ยงของแต่ละกลุ่มธุรกิจ คุณเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่าแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อของบริษัทขนาดใหญ่ในไทยโดยส่วนใหญ่ยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางธุรกิจและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.;/BBB+/AAA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า ปตท. มีความยืดหยุ่นในการปรับลดงบประมาณลงทุนและบริหารระดับหนี้สินให้สอดคล้องเหมาะสมกับอันดับเครดิตของบริษัทในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตของปตท.อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพัง (standalone rating) ของ ปตท. ถูกปรับอันดับลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศเพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับการเติบโตของรายได้ที่ลดลงและค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นในปี 2558 แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยลบนี้จะถูกชดเชยด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐที่ลดลง แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายโครงข่าย 3G จะยังคงอยู่ในระดับสูงแต่สถานะทางการเงินของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากระดับอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำในปัจจุบันและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ดังนั้นแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (BBB+/AA+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (BBB/AA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) จึงยังคงมีเสถียรภาพ คุณพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโสของฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงิน กล่าวว่าแม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่อ่อนแอได้สร้างแรงกดดันต่อกำไรสุทธิและคุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจภาคธนาคารแต่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความสามารถที่จะรองรับความเสี่ยงเหล่านี้และอันดับเครดิตของกลุ่มธนาคารโดยส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ไทยรายใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBB+/AA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BBB+/ AA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (BBB+/ AA(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (BBB/AA+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ต่างก็ได้มีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและระดับสำรองหนี้สูญในระดับที่สูงซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนสถานะทางการเงินของธนาคารดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่สำคัญสำหรับภาคธนาคาร คือระดับหนี้สินของธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารมีความผันผวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กที่มีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในระดับสูงและสินเชื่อธุรกิจที่มีระดับหนี้สินสูง งานสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและภาคการเงิน หน่วยงานรัฐ และนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมงานมากกว่า 50 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ