ไทยประกาศความสำเร็จส่งออกเนื้อสุกรไปรัสเซียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 2014 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--กรมปศุสัตว์ นายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่ส่งออกเนื้อสุกรไปยังรัสเซีย ถือเป็นการยืนยันมาตรฐานการผลิตเนื้อสุกรไทยที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย เป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งตลาดรัสเซียเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าปศุสัตว์สูงและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง "รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนภาคการเกษตรและการส่งออกพร้อมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่การส่งออกอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าปศุสัตว์สูงถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี นอกเหนือจากการส่งออกไปประเทศรัสเซียครั้งนี้ ไทยยังจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่มเขตเศรษฐกิจภาษีพิเศษอีกด้วย นับเป็นประโยชน์กับไทยในอนาคต" นายปีติพงษ์ กล่าว ทาง นายคีริว บาร์สกี เอกอัคราชฑูตรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกเนื้อสุกรไปรัสเซียครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เป็นโอกาสอันดีในการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพิเศษ อันประกอบไปด้วย รัสเซีย คาซัคสสถาน และ เบรารุส ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 180 ล้านคน ด้าน น.สพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ไทยมีเป้าหมายการส่งออกเนื้อสุกรไปรัสเซียครั้งนี้ประมาณ 60,000 ตันต่อปี ขณะที่รัสเซียมีความต้องการปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นโอกาสในการดึงราคาสุกรในประเทศให้สูงขึ้น และขยายตลาดส่งออกเนื้อสุกรแช่แข็งของไทย ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอาหาร นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า รัสเซียเป็นประเทศที่ยังมีการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์สูง ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศในแถบเอเชีย เนื่องจากรัสเซียกำลังสนใจตลาดในกลุ่มประเทศแถบนี้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รัสเซียให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมีมาตรฐานการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ขณะนี้ บริษัทฯ มีการลงทุนทำโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มสุกรในรัสเซียเรียบร้อยแล้ว และมีการส่งออกไปบางส่วนเพื่อรองรับกับความต้องการในประเทศที่มีอยู่สูง การส่งออกในครั้งนี้ จึงนับเป็นผลดีกับการผลิตและการส่งออกของประเทศไทยในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ