ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. โออิชิ กรุ๊ป” ที่ “A-/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 23, 2014 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาเขียวในประเทศไทยและการมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทั้งในด้านคณะผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ เครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง และความร่วมมือด้านการผลิตด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มชาเขียวที่ลดลง และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันและประโยชน์ที่ได้รับจากการผสานพลังทางธุรกิจกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจต่อไป อีกทั้งยังคาดหวังให้บริษัทมีผลการดำเนินงานและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินที่ดีขึ้น การขยายธุรกิจหรือแผนซื้อกิจการใดใด ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อรักษาโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ บริษัทโออิชิ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหาร สินค้าของบริษัทเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นและมีตราสัญลักษณ์ “โออิชิ” (Oishi) เป็นตราสินค้าหลัก สินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของบริษัทครอบคลุมชาเขียวญี่ปุ่น ชาผสมสมุนไพร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 3 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 464 ล้านลิตรต่อปี สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจเครือข่ายภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น จำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็น และให้บริการจัดส่งอาหาร บริษัทมีเครือข่ายภัตตาคารรวม 206 สาขา ณ เดือนกันยายน 2557 ครัวกลางแห่งใหม่ของบริษัทซึ่งอยู่ในจังหวัดชลบุรีเปิดดำเนินการในเดือนมกราคม 2557 ทดแทนครัวเก่าในจังหวัดปทุมธานี สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการมีฐานะเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชาเขียวชั้นนำในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 44% ของตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในประเทศ การบริโภคชาเขียวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากผู้ผลิตชาเขียวทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเชิงรุก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการบริโภคจะลดลงในปี 2557 เนื่องจากผู้ผลิตลดกิจกรรมส่งเสริมการขายลงในปีนี้ แนวโน้มการเติบโตของตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในอนาคตไม่น่าจะสูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สำหรับธุรกิจอาหารนั้น เมื่อพิจารณาถึงตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและเครือข่ายภัตตาคารของบริษัทที่มีขนาดปานกลางแล้วคาดว่าบริษัทมีโอกาสเติบโตที่ดีในธุรกิจดังกล่าวในอนาคตกลยุทธ์หลักของบริษัทคือขยายจำนวนสาขาทั่วเมืองใหญ่ในประเทศไทยอย่างน้อย 40 สาขาต่อปี รวมทั้งเปิดสาขาในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอาหารประเภทใหม่ ๆ ณ เดือนสิงหาคม 2557 บริษัทไทยเบฟเวอเรจถือหุ้นในสัดส่วน 79.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท การเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของไทยทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนและประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านจากการผสานพลังทางธุรกิจ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะผู้บริหารเข้ามาดูแล การให้บริการกระจายสินค้า และความร่วมมือด้านการผลิต เครือข่ายการจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจช่วยให้สินค้าของบริษัทกระจายตัวครอบคลุมตลาดและเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศและมีโอกาสเติบโตในตลาดส่งออกด้วย บริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจในด้านการผลิตโดยการใช้โรงงานและเครื่องมือร่วมกันในการผลิตซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจัดซื้อวัตถุดิบร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจซึ่งช่วยทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้ามากขึ้นด้วย ในปี 2556 ยอดขายของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 12,208 ล้านบาท และเติบโตอีก 2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 โดยการเติบโตเกิดจากธุรกิจอาหารเป็นหลัก ยอดขายจากธุรกิจอาหารเติบโต 12% ในปี 2556 และเติบโต 8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งมาจากการขยายจำนวนสาขาร้านอาหาร ในทางกลับกัน ยอดขายจากธุรกิจเครื่องดื่มลดลง 1% ในปี 2556 และหดตัว 4.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 การลดลงของรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มเกิดจากการบริโภคที่หดตัวและการส่งเสริมการขายที่ลดลง ในอดีตธุรกิจเครื่องดื่มเคยสร้างรายได้ให้แก่บริษัทโดยมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้รวม แต่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 กลับลดลงเหลือ 46% ของรายได้รวมของบริษัท ตลาดชาพร้อมดื่มในปี 2557 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ลดลง มูลค่าตลาดชาพร้อมดื่มในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงไป 4.4% โดยเปรียบเทียบกับการเติบโตในอัตราเลข 2 หลักในช่วงปี 2554-2556 การแข่งขันในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมีความรุนแรงเนื่องจากมีผู้แข่งขันจำนวนมากและมีสินค้าทดแทนได้ง่าย ทำให้กิจกรรมทางการตลาดและการส่งเสริมการขายเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นความต้องการอยู่เสมอ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขาย) ของบริษัทลดลงจาก 10.4% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 9.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อันเป็นผลจากธุรกิจอาหารเป็นสำคัญ โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขาย (EBITDA Margin) จากธุรกิจอาหารลดลงจาก 9.7% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากค่าแรงที่สูงขึ้นและการหดตัวลงของยอดขายจากสาขาเดิม สำหรับ EBITDA Margin ในธุรกิจเครื่องดื่มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 12% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 จากระดับ 5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่ประหยัดได้จากการผลิตที่มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling -- CAF) อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 30% ของรายได้รวม สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 61.3% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 45.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วงปี 2557-2560 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโต 4%-7% ต่อปี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการขยายสาขาร้านอาหาร ธุรกิจชาพร้อมดื่มคาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความนิยมในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรสูงกว่า 10% จากอุปสงค์ที่มีต่อธุรกิจอาหารที่มีเสถียรภาพและการมีต้นทุนที่ได้เปรียบในธุรกิจเครื่องดื่ม ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงเพื่อสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งในตราสัญลักษณ์ ในช่วงปี 2557-2560 คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 1,200-1,700 ล้านบาทต่อปี ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,063 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ 3,003 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2557 เนื่องจากบริษัททำการขยายกำลังการผลิตเครื่องดื่มและสร้างครัวกลางแห่งใหม่ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 37.7% ในปี 2556 เป็น 47.2% ณ เดือนกันยายน 2557 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2557-2560 ประมาณ 4,500 ล้านบาทเพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหารและบำรุงรักษาสายการผลิตเครื่องดื่ม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในช่วงระยะปานกลางจะอยู่ในระดับไม่เกิน 50% ทั้งนี้ สมมติฐานพื้นฐานนี้ไม่ได้รวมการลงทุนใหม่หรือเงินลงทุนสำหรับการซื้อกิจการขนาดใหญ่ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI) อันดับเครดิตองค์กร: A- อันดับเครดิตตราสารหนี้: OISHI168A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ