สมศ. เผยครูไทย “แฮปปี้” ใช้ผลประเมินสร้างมาตรฐานการศึกษาได้จริง พร้อมหวังปี 58 สถานศึกษาใช้ผลประเมินฯเพิ่มศักยภาพการศึกษาไทย สู้ศึกอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 13, 2015 12:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ตั้งเป้าเห็นผลมาตรฐานการศึกษาในแต่ละสถานศึกษาทั่วประเทศไทยมีมาตรฐานดีเท่าเทียมกันตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ ผ่านบทบาทในการประเมินผลเพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษา ให้เห็นภาพรวมคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งด้านผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ในทุกระดับ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำผลการประเมินไปวางแผนพัฒนาสถานศึกษา โดยระยะเวลากว่า 14 ปี สมศ. ได้ดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบเพื่อรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา อาทิ การผลิตและพัฒนาบุคลากรผู้ประเมินภายนอกทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา จำนวนรวมกว่า 3,000 คน การจัดทำคู่มือการประเมินภายนอก การสร้างองค์ความรู้เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ฯลฯ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ผลการประเมินทั้งสามรอบ ตั้งแต่ปี 2544-2557 การศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวนโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้งสามรอบ 1,755 แห่ง โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู เสนอแนะสถานศึกษาต้องสร้างคุณภาพในเชิงระบบ ทั้งนี้สำหรับ ปี 58 ระบบการศึกษาไทยต้องสร้างค่านิยมการประเมินฯ รอบด้าน โดยในการประเมินรอบสี่ ที่จะเริ่มในปี 2559-2563 คาดหวังให้สถานศึกษาได้รับรองมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันทั่วประเทศ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. มีบทบาทหลักในการสะท้อนคุณภาพการศึกษา ให้เห็นภาพรวมคุณภาพการจัดการศึกษาทั้ง 4 มาตรฐานตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ผลการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การบริหารจัดการ และการประกันคุณภาพภายใน เพื่อให้สถานศึกษาได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปดำเนินการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอเชิงนโยบายการศึกษาต่อรัฐบาลเพื่อนำไปกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษา โดยในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ตั้งโจทย์ของการพัฒนาตัวบ่งชี้ให้สอดคล้องกับอนาคตที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และคุณลักษณะในด้านต่างๆ ของศตวรรษที่ 21 โดยกำหนดกรอบการประเมินให้ครอบคลุม 7 ด้าน คือ (1) ด้านคุณภาพศิษย์ (2) ด้านคุณภาพครู/อาจารย์ (2) ด้านการบริหารและธรรมาภิบาลของสถานศึกษา (4) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน สังคม (5) ด้านการทำนุบำรุงศิสปะและวัฒนธรรม (6) ด้านอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และ (7) ด้านมาตรการส่งเสริม พร้อมกันนี้ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ ให้เข้าใจการทำงานที่มีระบบประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบ มีทัศนคติที่ดีต่อการประเมิน และกระตุ้นให้มีการนำผลการประเมินสู่การพัฒนา โดยคาดหวังว่าในรอบสี่สถานศึกษาจะเกิดการตื่นตัวในการทำงานอย่างมีวัฒนธรรมคุณภาพ มีจำนวนสถานศึกษาที่ระดับคุณภาพที่ดี-ดีมากเพิ่มมากขึ้น เพื่อสะท้อนศักยภาพการศึกษาของไทยในระดับสากล และเป็นหลักประกันกับเด็กไทยทุกคนจะได้รับการศึกษาในสถานศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ “จากการวิเคราะห์ผลการประเมินคุณภาพทั้งสามรอบ พบว่าจำนวนสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ มีจำนวน 4,420 แห่ง จากทั้งหมด 31,375 แห่ง สถานศึกษาด้านการอาชีวศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ 254 แห่ง จากทั้งหมด 749 แห่ง และระดับอุดมศึกษาที่มีระดับดี-ดีมาก คงที่ทั้งสามรอบ 153 แห่ง จากทั้งหมด 260 แห่ง” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ผลการประเมินทั้งสามรอบ พบว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมินแต่ละรอบของสถานศึกษาทุกแห่ง คือ กลุ่มโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 1,755 แห่ง และกลุ่มที่ผ่านการประเมินฯ รอบ 2 แต่รอบสามไม่ผ่านการประเมิน มีจำนวนถึง 9,418 แห่ง ซึ่งผลเหล่านี้ทำให้เห็นภาพรวมทั้งประเทศได้ชัดเจนว่า ทั้งสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้นสังกัดจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญและใกล้ชิดอย่างมาก ค้นหาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขเร่งด่วนที่สุด จากการวิเคราะห์หนึ่งในสาเหตุอาจมาจากการโยกย้ายของผู้บริหาร หรือครู ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าคุณภาพของสถานศึกษาผูกติดกับตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ เพราะสถานศึกษาควรจะต้องสร้างคุณภาพในเชิงระบบให้เกิดขึ้น แม้จะเปลี่ยนตัวบุคคล คุณภาพไม่ควรจะต่ำลง นอกจากนี้ ขณะนี้ สมศ. กำลังวิเคราะห์ผลในเชิงพื้นที่ (Area based) ให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่แต่ละจังหวัด ให้เห็นคุณภาพระดับจังหวัดได้ชัดเจนขึ้น เพื่อเสนอภาครัฐได้ส่งต่อนโยบายเพื่อการพัฒนาในระดับพื้นที่ต่อไป “ตลอดระยะเวลา 14 ปีของการจัดตั้ง สมศ. สถานศึกษาเกิดการรับรู้ ผู้บริหาร ครู เริ่มตื่นตัว มีความเข้าใจการประเมินที่ดีขึ้น ได้สะท้อนผลด้านจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา เสนอแนะทิศทางสู่เป้าหมายการจัดการศึกษา เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้กับสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างคนคุณภาพเพื่อที่จะเป็นแรงงานที่มีศักยภาพให้การสร้างการแข่งขันให้กับประเทศไทย” ด้าน ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้หยิบยกเอาการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ฟินแลนด์ใช้ระบบการประเมินในลักษณะ ELE ( Enhancement–Led Evaluation) คือ การประเมินเพื่อพัฒนา เพื่อให้แต่ละโรงเรียนหาจุดแข็งและแนวทางการปฏิบัติที่ดีควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายการพัฒนาในอนาคต การประเมินจะต้องมีอยู่ในขั้นตอนปฏิบัติทุกขั้นตอนเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ทั้งในการประเมินตนเองและการประเมินแบบรวบยอดโดยผู้มีประสบการณ์ด้านคุณภาพการศึกษา ข้อเท็จจริงที่ได้จากการประเมินจะนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางในการประเมินคล้ายคลึงกับระบบการประเมินในประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้ถ้าสถานศึกษาต่างๆ มีความเข้าใจในประโยชน์ของการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง จะทำให้ระบบศึกษา ของประเทศไทยมีความเข้มแข็งและสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพแข่งขันกับประชาคมโลกได้ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ